เมื่อวันที่ 26 ก.ย.2567 เวลา 15.15 น. นายธนกร วังบุญคงชนะ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ ได้ลุกขึ้นอภิปรายต่อที่ประชุมสภาฯ ว่า ขอร่วมอภิปรายรายงานประจำปีของศาลรัฐธรรมนูญปี 2566 โดยในภาพรวมมองว่าการทำงานของศาลรัฐธรรมนูญ หลายอย่างอาจจะไม่ได้ถูกใจพรรคการเมืองมากนักแต่ตนเชื่อว่า ถูกใจพี่น้องประชาชน เพราะสิ่งสำคัญที่สุด คือ หลักการสำคัญของศาลรัฐธรรมนูญ ได้วางหลักการสำคัญไว้โดยเชื่อว่าเป็นที่ยอมรับของพี่น้องประชาชน นั่นคือเรื่องจริยธรรม ความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ตรงนี้ตนคิดว่าเป็นหลักการสำคัญมาก เพราะว่าคนที่จะเข้าไปสู่ตำแหน่งทางการเมืองที่สำคัญต้องยึดหลักนี้ เพราะฉะนั้น หลักการที่วางไว้ถือว่าดีแน่นอน
.
ทั้งนี้ นายธนกร กล่าวว่า ต้องขอบคุณ นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันที่มองว่าการแก้รัฐธรรมนูญรายมาตราเรื่องจริยธรรมนักการเมือง ไม่ได้สำคัญไปกว่าการแก้ปัญหาให้กับพี่น้องประชาชน วันนี้ท่านไปแก้ปัญหาปากท้องเงิน 10,000 บาท วันนี้ พี่น้องประชาชนได้รับแล้ว เรื่องนี้นายกฯเดินมาถูกทางแล้ว เพราะฉะนั้น ในการแก้รัฐธรรมนูญรายมาตรา ที่ทุกฝ่ายก็เห็นพ้องต้องกันว่าไม่มีความจำเป็น โดยเฉพาะหลักการสำคัญในเรื่องของเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ เรื่องความซื่อสัตย์ และเรื่องจริยธรรมตรงนี้สำคัญมาก
.
“การที่จะแก้อะไรทำได้อยู่แล้ว แต่สิ่งหนึ่งที่เราพึงระวัง การแก้อะไรก็ตาม ถ้าทำเพื่อตัวเราเองต้องระวังเพราะว่าในอดีตที่ผ่านมา คงจำกันได้ ในสมัยที่มีองค์กรอิสระ องค์กรหนึ่ง มีมติขึ้นเงินเดือนให้กับตัวเอง แม้ว่ามีเจตนาที่ดีที่บริสุทธิ์ แต่ว่าการทำอย่างนี้ สุดท้าย คือติดคุก เพราะฉะนั้นตรงนี้สำคัญ”
.
นอกจากนี้ในส่วนของการทำงานเรื่องคดีความต่างๆ เมื่อดูการบริหารจัดการคดี ศาลรัฐธรรมนูญก็บริหารได้ดี แม้ว่าคดีไม่ได้เยอะเหมือนศาลอื่นๆ แต่ว่าเป็นการบริหารจัดการได้ดีคดีที่สำคัญ ก็ออกสู่สาธารณชนก่อน พร้อมมีการชี้แจงให้ประชาชนได้รับทราบในรายละเอียดคดีที่ได้รับความสนใจจากประชาชน สิ่งหนึ่งที่ปรากฏอยู่ในเอกสารฉบับที่รายงานพบว่าผลการสำรวจความเชื่อมั่นของพี่น้องประชาชนที่มีต่อการอำนวยความยุติธรรมของศาลรัฐธรรมนูญในปี 2566 มีสูงถึง 73.7% นั่นหมายความว่าพี่น้องประชาชนมีความเชื่อมั่นในตัว ศาลรัฐธรรมนูญรัฐ ตนจึงขอให้กำลังใจ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทุกท่าน ได้ทำหน้าที่ต่อไป
.
“ผมคิดว่าทุกองค์กรอิสระ องค์กรศาลต่างๆ มีความสำคัญ ทั้งองค์กร ป.ป.ช ศาลปกครองสูงสุด มีอำนาจในการถ่วงดุลในการบริหารประเทศเพราะฉะนั้นทุกฝ่ายย่อมมีหน้าที่ที่จะต้องดำเนินการต่อไป” นายธนกร กล่าว