วันที่ 23 กันยายน 2567 นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการพรรครวมไทยสร้างชาติ ในฐานะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานในพิธีเปิดงานสัมมนาวิชาการประจำปี 2567 Eco Innovation Forum 2024 “Now Thailand : Sustainable Future ลงทุนในประเทศไทยเพื่ออนาคต
.
งานสัมมนาในครั้งนี้จัดโดยความร่วมมือของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) โดยมี นายสุเมธ ตั้งประเสริฐ กรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศ ร่วมให้การต้อนรับ และนางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมเป็นเกียรติ ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค กรุงเทพฯ
.
นายเอกนัฏ กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรมวางทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยต้องมุ่งสู่ความยั่งยืน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และพร้อมรับมือกับความท้าทายต่างๆ ทั้งจากสถานการณ์ ภูมิรัฐศาสตร์ และมาตรการกีดกันทางการค้า โดยรัฐบาลมุ่งมั่นที่จะเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการ พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและโครงสร้าง การผลิต โดยจะร่วมมือกับทุกภาคส่วนเพื่อสร้างโอกาสในการพัฒนาประเทศ
.
อุตสาหกรรมประเทศไทยต้องเริ่มต้นตั้งแต่วันนี้ (Now Thailand) ทั้งนี้ ประเทศไทยไม่เพียงแต่เป็นจุดหมายปลายทางการลงทุน แต่เป็น “ทางด่วน” ที่จะเร่งการลงทุนและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อรองรับอุตสาหกรรมยุคใหม่ที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
กระทรวงอุตสาหกรรม มีนโยบายขับเคลื่อน 3 ด้านหลัก ได้แก่ การจัดการกากอุตสาหกรรมที่เป็นพิษ การส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทย และการสร้างอุตสาหกรรมเศรษฐกิจใหม่
.
โดยมียุทธศาสตร์ในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจอุตสาหกรรม พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน ส่งเสริมเศรษฐกิจสีเขียว และบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน โดยมุ่งมั่นสนับสนุนผู้ประกอบการให้บรรลุเป้าหมายของอุตสาหกรรมที่ยั่งยืน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเติบโตไปพร้อมกับชุมชน
.
สำหรับภารกิจสำคัญในปีงบประมาณ 2568 กระทรวงอุตสาหกรรมจะมุ่งเน้นในหลายภารกิจ ได้แก่ การส่งเสริม Soft Power, การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมแห่งอนาคต, การยกระดับเศรษฐกิจอุตสาหกรรม, การส่งเสริมอุตสาหกรรมสีเขียว, การขับเคลื่อนศูนย์อุตสาหกรรมฮาลาล, การลดมลพิษทางอากาศ, การบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม, การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และการยกระดับการบริการของกระทรวง
.
“ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยมี 2 เรื่องที่จะขอความร่วมมือ คือ 1.ช่วยกันรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ช่วยสร้างค่านิยม ปลูกฝังค่านิยมในองค์กร เช่น การแยกขยะ, จ้างบริษัทกำจัดการที่ได้มาตรฐาน และ 2.ร่วมกัน Save อุตสาหกรรมไทย และเอสเอ็มอีไทยจากผู้บิดเบือนตลาด และเป็นมิตรกับนักลงทุน สนับสนุนให้อุดหนุนผู้ผลิตชาวไทย ทั้งเครื่องมือทางการแพทย์ และด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ” นายเอกนัฏ กล่าว
.
ภายในงานดังกล่าว ได้มีพิธีมอบโล่เกียรติยศ และประกาศนียบัตรเกียรติคุณ ให้กับนิคมอุตสาหกรรมที่ยกระดับเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ระดับ Eco-World Class จำนวน 4 แห่ง ระดับ ระดับ Eco-World Class 9 แห่ง ระดับ Eco-Excellence 25 แห่ง ระดับ Eco-Champion 40 แห่ง โรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Factory) 79 แห่ง และโรงงานเครือข่ายลดก๊าซเรือนกระจกดีเด่น 5 แห่ง