“ศาสตรา ศรีปาน” อภิปรายนโยบายรัฐบาล 8 เรื่อง ชมรัฐบาลบรรจุนโยบายปฏิรูปโครงสร้างราคาพลังงานในนโยบายเร่งด่วน-จ่ายเงินหนึ่งหมื่นบาทแรกตรงกลุ่มเป้าหมาย เสนอรัฐบาลเร่งแก้ไขคุณภาพทางการศึกษา เร่งพัฒนาพลเมืองไทยสู่พลเมืองโลก ผลักดันสงขลาสู่เมืองมรดกโลกเต็มตัว ขอให้รัฐบาลใส่ไทม์ไลน์นโยบายให้ชัดเจน เชื่อประชาชนเอาใจช่วย
.
วันที่ 12 กันยายน 2567 นายศาสตรา ศรีปาน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดสงขลา เขต 2 พรรครวมไทยสร้างชาติ ได้อภิปรายในการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาของคณะรัฐมนตรี ว่า ในลำดับแรกขอขอบคุณรัฐบาลที่ได้บรรจุการลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานในนโยบายเร่งด่วน ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายเร่งด่วนของพรรครวมไทยสร้างชาติเช่นกัน รวมถึงการให้ความชัดเจนของนโยบายเงินดิจิทัลว่าจะมีการจ่ายผ่าน “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” ก่อนจำนวนหนึ่ง
.
ลำดับต่อมาเป็นเรื่องเกี่ยวกับนโยบายด้านการศึกษา ปัจจุบันคะแนน PISA ของประเทศไทยตกต่ำที่สุดในรอบ 20 ปี ดังนั้นกระทรวงศึกษาธิการจะต้องกล้าที่จะตัดสินใจพัฒนาคุณภาพสถานศึกษาต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงการตัดสินใจควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กเพื่อพัฒนาคุณภาพทางการศึกษา
.
ลำดับที่สาม แม้จะเกี่ยวข้องกับการศึกษาแต่อยู่ในอีกเรื่องคือ เรื่องนโยบายเรียนฟรี 15 ปีอย่างมีคุณภาพ และเงินอุดหนุนต่าง ๆ ของโรงเรียนยังมีการใช้จ่ายเงินแผ่นดินอย่างผิดวัตถุประสงค์ จึงต้องการให้รัฐบาลกำกับ ติดตามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มีการตรวจสอบโครงการต่าง ๆ โดยเฉพาะโครงการอาหารกลางวันอย่างต่อเนื่อง
.
ลำดับที่ 4 ในการแถลงนโยบายมีการกล่าวถึง “การสร้างพลเมืองโลก” โดยใช้ AI แต่อย่างไรก็ตามตนอยากฝากไปถึงรัฐบาลว่าอย่าให้มีการละเลยทักษะภาษาอังกฤษ ในส่วนนี้ขอเสนอให้ใช้ OPOL คือ One Person One Language คือการใช้ผู้ปกครองสื่อสารในภาษาอังกฤษพร้อม ๆ กับฝึกฝนภาษาอังกฤษผ่านสื่อการเรียนการสอนพร้อม ๆ กันกับเด็ก
.
ลำดับที่ 5 ตนเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งที่จะมีการดึงเงินนอกระบบ หรือที่เรียกกันว่าเงินสีเทาและสีดำเข้ามาในระบบ เพื่อนำเงินจำนวนนี้มาพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐานของประเทศ ไม่ว่าจะเป็น สถานศึกษา โรงพยาบาลต่าง ๆ ต่อไป
.
ในเรื่องนี้ตนได้มีโอกาสเป็นหนึ่งในกรรมาธิการในคณะกรรมาธิการวิสามัญแก้ไขปัญหาสถานนบันเทิงฯ จึงอยากเสนอให้ยกเลิกโซนนิ่งของสถานบันเทิงให้เร็วที่สุด เพราะโซนนิ่งเป็นปัญหาที่ทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถจดทะเบียนให้ถูกกฎหมายได้ เป็นที่มาของปัญหาส่วย และเงินใต้โต๊ะ โดยตนเสนอให้ท้องถิ่นเป็นผู้พิจารณาอนุญาตในแต่ละราย
.
ลำดับที่ 6 เป็นเรื่องเกี่ยวกับจังหวัดสงขลา ตนเสนอว่าให้รัฐบาลผลักดัน “สงขลา” เข้าสู่เมืองมรดกโลกให้เต็มที่ โดยขอยกตัวอย่างดังนี้ เมืองสงขลา และเมืองปีนังมีระยะห่างกันไม่มากนักเดินทางโดยใช้เครื่องบินใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง
.
ในอดีตทั้ง 2 เมืองนี้มีนักท่องเที่ยวใกล้เคียงกันคือประมาณ 4 ล้านคนต่อปี แต่หลังจากปีนังได้รับเลือกให้เป็นมรดกโลก ปีนังมีนักท่องเที่ยวมากถึง 12 ล้านคนต่อปี ตนจึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้เห็นการเดินหน้าเป็นมรดกโลกของสงขลา เพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างเป็นรูปธรรม
.
อย่างไรก็ตามในเรื่องของการท่องเที่ยวไม่ใช่เพียงประเด็นของการดึงดูดนักท่องเที่ยวเท่านั้น จะต้องพิจารณาแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวเนื่องอย่างจริงจัง โดยเฉพาะนักท่องเที่ยว และชาวต่างชาติเปลี่ยนเป็นนายทุน เป็นผู้ประกอบอาชีพต่าง ๆ แข่งขันกับคนไทยเอง
.
ในลำดับที่ 7 คือ ด้านคมนาคมในภาคใต้ ไม่ว่าจะเป็นโครงการแลนด์บริดจ์ โครงการรถไฟทางคู่ วันนี้ขอให้รัฐบาลต้องเร่งตัดสินใจเดินหน้าให้เร็วที่สุด เพื่อพัฒนาศักยภาพของภาคใต้
.
แต่อย่างไรก็ดีในส่วนของรถไฟทางคู่จะต้องมีการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ โดยขอเสนอให้มีการเยียวยาแบบ 2 ทางเลือกควบคู่กัน คือ เลือกได้ว่าจะเช่าพื้นที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทยต่อไป หรือเช่าพื้นที่ของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
.
ลำดับสุดท้ายตนไม่อยากให้การแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีเป็นเพียงพิธีกรรมอย่างหนึ่งเท่านั้น ขอให้ยึดเป็นสัญญาประชาคม และขอเสนอให้กำหนดกรอบระยะเวลาวางไทม์ไลน์ในการดำเนินการนโยบายต่าง ๆ อย่างชัดเจน ตนเชื่อว่าประชาชนทุกคนพร้อมเอาใจช่วย และเดินหน้าไปพร้อม ๆ กันกับรัฐบาล