“วิทยา แก้วภราดัย” เสนอกระทรวงสาธารณสุข เตรียมความพร้อมรับมือ หลังไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ บริหารอัตรากำลังคนให้เหมาะสม ชงฝึกอบรม อสม. ให้มีความพร้อมดูแลผู้สูงอายุในทุก ๆ หมู่บ้าน
.
วันที่ 5 กันยายน 2567 นายวิทยา แก้วภราดัย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ ได้อภิปรายร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2568 ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข ว่า
.
ในลำดับแรกขอใช้โอกาสนี้พูดถึงความสำคัญต่อประชาชนเป็นอย่างมากของกระทรวงสาธารณสุข ที่ดูแลพี่น้องประชาชนตั้งแต่คลอดจนถึงวันสุดท้ายของชีวิต ความท้าทายที่สำคัญของกระทรวงสาธารณสุขคือการที่ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์แล้ว และอย่างที่ทุกท่านทราบดีว่าช่วงวัยที่ใช้บริการสถานพยาบาลมากที่สุดคือวัยเด็ก และผู้สูงอายุ
.
จากความท้าทายดังที่กล่าวมาจึงขอฝากคำถามไปยังคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2568 และกระทรวงสาธารณสุขใน 3 ข้อ ดังต่อไปนี้
.
ในข้อแรก คือ อัตราว่างของตำแหน่งทั้งแพทย์และพยาบาลในปัจจุบันมีอยู่เท่าใดกันแน่ เนื่องจากปัจจุบันได้ทราบว่ามีแพทย์และพยาบาลบางส่วนกว่าจะบรรจุเป็นข้าราชการได้ใช้ระยะเวลาหลายปี ปัญหานี้เป็นปัญหาคล้าย ๆ กับเมื่อช่วง 30 ปีที่แล้ว ที่บรรดาบุคลากรทางด้านสาธารณสุขต้องไปหาตำแหน่งว่างที่ต่างประเทศ จนปัจจุบันปัญหานี้ยังไม่หายไปแต่แค่เปลี่ยนจากการหาตำแหน่งต่างประเทศไปหาโรงพยาบาลเอกชนในประเทศแทน
.
ข้อที่สอง เป็นคำถามที่ต่อเนื่องกับคำถามข้อแรก และเป็นการเตรียมความพร้อมในอนาคตที่จะรองรับความท้าทายด้านการสาธารณสุขที่กล่าวไปในตอนต้น คือในขณะนี้กระทรวงการสาธารณสุขได้วางแผนในการเพิ่มอัตรากำลังในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการสาธารณสุขอย่างไร เนื่องจากบุคลากรด้านการสาธารณสุขจะต้องใช้ระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 4-5 ปี ในการเพิ่มอัตรากำลัง เราจึงต้องวางแผนและดำเนินการตั้งแต่วันนี้
.
และข้อสุดท้าย เป็นการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ ซึ่งตนมีข้อเสนอแนะแก่คณะกรรมาธิการและกระทรวงสาธารณสุข คือการฝึกอบรมบุคลากรของกระทรวงสาธารณสุขที่มีจำนวนมาก คือประมาณ 1 ล้านคน ในตำแหน่งอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม. ซึ่งประเทศไทยเป็นลำดับ 1 ของโลกที่มีบุคลากรส่วนนี้มากขนาดนี้
.
กระทรวงสาธารณสุขจำเป็นจะต้องพัฒนาบุคลากรเหล่านี้เพื่อรองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยของประเทศไทยผ่านการฝึกอบรมอย่างเป็นขั้นเป็นตอน หากสามารถทำได้ประเทศไทยจะมีบุคลากรด้านการสาธารณสุขที่มีความรู้ความสามารถในการรับมือกับสุขภาวะของผู้สูงอายุในทุก ๆ หมู่บ้าน จึงฝากเป็นข้อเสนอแนะไปยังกระทรวงสาธารณสุขในการพิจารณาดำเนินการ