“จุติ ไกรฤกษ์” แนะ “ร่างงบ 68” ต้องมุ่งเน้นพัฒนาทุนมนุษย์ เสริมศักยภาพการแข่งขันของประเทศไทย เตือนการปรับนโยบายชำระหนี้ ส่งสัญญาณผิดพลาดอาจกระทบความเชื่อมั่น
.
วันที่ 3 กันยายน 2567 นายจุติ ไกรฤกษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ ได้อภิปรายแปรญัตติในมาตรา 4 ของร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ว่า
.
ขอส่งคำแนะนำด้วยความหวังดีไปยังคณะกรรมาธิการรวมถึงรัฐบาล ในภาพรวมว่าร่างงบประมาณรายจ่ายฉบับนี้นั้น โดยมีคำแนะนำ 3 ส่วน คือ ส่วนของการส่งสัญญาณที่ผิดพลาด ส่วนของการตั้งสมมติฐานในการจัดทำงบประมาณที่ผิดพลาด และส่วนของการปรับเพิ่มปรับลดงบประมาณตามความเหมาะสม
.
ส่วนของการส่งสัญญาณที่ผิดพลาดในประการแรก คือ การแจกเงินผ่านการกู้ ในประการนี้มีปัญหา 2 เรื่อง คือ การแจกเงินไม่ใช่การแก้ไขปัญหาความยากจน และการแจกเงินไม่ได้เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศและขีดความสามารถในการพัฒนาคุณภาพของมนุษย์
.
ประการที่ 2 คือ การส่งสัญญาณว่าจะไม่ชำระหนี้ของ ธ.ก.ส. ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณที่ผิดพลาดอย่างรุนแรง ทำให้บรรดาทั้งนักลงทุนและนักวิเคราะห์ต่างประเทศตกใจว่าวิธีคิดของประเทศไทยในเรื่องนี้อย่างมาก
.
ประการที่ 3 ซึ่งเป็นประเด็นสุดท้าย คือ การตัดงบประมาณกองทุนการออมแห่งชาติเป็นการส่งสัญญาณว่าประเทศไทยให้ความสำคัญกับการเดินหน้าของประเทศเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุน้อยกว่าที่ควรจะเป็นหรือไม่ ตนอยากให้มีการสานต่อในเรื่องนี้เพราะได้มีการดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องกว่า 15 ปี
.
สำหรับส่วนของการตั้งสมมติฐานที่ผิดพลาด ในวันที่มีการตั้งงบประมาณฉบับนี้ วันนั้นยังไม่มีปัจจัยในเรื่องของการทำสงครามระหว่างอิสราเอลและประเทศเพื่อนบ้าน ไม่มีสงครามทางการค้า และสงครามทางเทคโนโลยี
.
ในหนึ่งปีที่ผ่านมามีการเปลี่ยนแปลงของโลกเป็นไปอย่างรวดเร็ว แต่งบประมาณและการตัดสินใจของตามไม่ทันการเปลี่ยนแปลงของโลก
.
การส่งสัญญาณและการตั้งสมมติฐานที่ผิดพลาดจะทำให้ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นผิดพลาด งบประมาณฉบับนี้จัดทำโดยระบบราชการ ซึ่งขาดความคล่องตัวในการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์เป็นอย่างยิ่ง
.
สุดท้ายการตัดในโครงการที่ควรตัด เพิ่มในโครงการที่ควรเพิ่ม อันดับแรกขอเน้นย้ำว่าในกองทุนการออมแห่งชาตินั้นต้องเพิ่ม เพื่อเป็นพื้นที่สำหรับคนที่ไม่มีโอกาส คนจนในทุกวันนี้จนทุกอย่างแม้กระทั่งจนในการเข้าถึงโอกาส
.
สถานการณ์ในวันนี้มีเด็กไทย 1 ล้านคนไม่มีอนาคตทางการศึกษาเนื่องจากขาดทุนทรัพย์ งบประมาณ 7,000 ล้าน ควรเป็นการสร้างอนาคต สร้างทุนมนุษย์ ไม่ใช่การกู้มาแจก
.
การตัดงบ 120 ล้านบาท ในโครงการ 1 หมู่บ้าน 1 เชฟ ที่เป็นโครงการผลักดันซอฟต์ พาวเวอร์ในด้านอาหาร และสร้างโอกาสในการพัฒนาศักยภาพของทุนมนุษย์ เพื่อให้ลืมตาอ้าปากได้
.
สุดท้ายสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งคือการเพิ่มงบมูลนิธิทันตนวัตกรรมในพระบรมราชูปถัมภ์ คือการทำรากฟันเทียม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงบริจาคทรัพย์ส่วนพระองค์ในโครงการนี้ซี่ละ 1 แสนบาทมีกลุ่มเป้าหมายเป็นคนไข้ 7 หมื่นคน และรัฐบาลก็มีการสมทบงบประมาณเข้าไปแต่แค่ 30 ล้านบาท ซึ่งไม่เพียงพอ นี่คือชีวิต คือความเป็นอยู่ของคนจนที่ขาดโอกาสในการได้รับการรักษา