“พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” รักษาการรองนายกรัฐมนตรีและ รมว. พลังงาน เผย ร่างกฎหมายปฏิรูปโครงสร้างราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซ ร่างแรกจำนวน 90 หน้า 180 มาตรา เตรียมส่งให้คณะผู้เชี่ยวชาญนำไปตรวจสอบในรายละเอียดและปรับปรุงต่อ
.
วันที่ 21 สิงหาคม 2567 นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ ในฐานะรักษาการรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า วันนี้ได้มีการประชุมคณะทํางานพิเศษ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านกฎหมายและพลังงาน เพื่อจะให้พิจารณาร่างกฎหมายปฏิรูปโครงสร้างราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซ ซึ่งตนได้ร่างเสร็จเรียบร้อยแล้ว ที่มีทั้งหมด 90 หน้า 180 มาตรา และหลังจากนี้ จะส่งให้คณะผู้เชี่ยวชาญนำไปตรวจสอบในรายละเอียดและปรับปรุงต่อไป
.
“ในระหว่างรอการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ ผมอยากให้พี่น้องประชาชนสบายใจและมั่นใจว่าผมไม่ได้ทิ้งงานนะครับ ระหว่างนี้ผมยังทํางานเต็มที่ให้กับพี่น้องประชาชนทุกเรื่อง และทุกเรื่องที่บอกไว้ ผมยังทําอยู่ ทําต่อ เรื่องนี้เป็นบันไดขั้นที่ 3 ที่ผมเคยบอกไว้ว่า ผมจะมีบันได 5 ขั้น ก่อนหน้านี้เสร็จไปแล้ว 2 ขั้น วันนี้ขั้นที่ 3 เสร็จแล้ว และกำลังจะเดินหน้าสู่ขั้นที่ 5 ซึ่งเป็นขั้นสุดท้ายเพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน และความเป็นธรรมในการจําหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซให้กับพี่น้องประชาชนต่อไปในอนาคต” นายพีระพันธุ์กล่าว
.
ขอให้มั่นใจว่า ตนจะทํางานทุ่มเทสติปัญญาและกําลังความสามารถทุกอย่าง เพื่อพี่น้องประชาชนในประเทศไทยของเรา ตลอดไปครับ
.
ทั้งนี้ บันได 5️ ขั้น เพื่อพลิกโฉมระบบพลังงานไทยเพื่อคนไทย ตามแนวทาง รื้อ-ลด-ปลด-สร้าง ของ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน นั้นประกอบด้วย
.
ขั้นที่ 1
6 เดือนแรกตรึงราคาน้ำมัน พร้อมหาช่องทางรื้อระบบให้รู้ต้นทุนราคาน้ำมันของผู้ค้าน้ำมันที่ไม่เคยรู้ และมีแต่คนบอกว่าทำไม่ได้!
.
ขั้นที่ 2
8 มีนาคม 2567 ลงนามประกาศกระทรวงพลังงาน ‘รื้อ’ ระบบการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง กำหนดให้ผู้ค้าน้ำมันต้องแจ้งต้นทุนเป็นครั้งแรกในรอบ 51 ปี โดยลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อ 14 มีนาคม 2567 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 15 เมษายน 2567 เป็นต้นไป
.
ขั้นที่ 3
รื้อระบบการปรับราคาน้ำมัน โดยต้องแจ้งกระทรวงพลังงานทราบก่อน และให้ปรับได้เดือนละหนึ่งครั้ง ไม่ใช่ปรับทุกวัน และให้ปรับราคาได้ตามความเป็นจริงที่ราคาตลาดโลกสูงกว่าราคาต้นทุนเฉลี่ยของผู้ค้าน้ำมันในงวดเดือน ณ วันที่ปรับราคานั้น เพื่อ ‘ลด’ ภาระค่าน้ำมันรายวันให้ประชาชน
.
ขั้นที่ 4
จัดทำระบบสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์เพื่อความมั่นคงของประเทศ (SPR) เช่นกรณีเกิดสงครามอิสราเอล-อิหร่าน จะไม่ทำให้มีผลกระทบกับคนไทยทั้งราคาและ supply น้ำมัน และนำระบบนี้มารักษาเสถียรภาพระดับราคาน้ำมันให้อยู่ในระดับที่รัฐบาลกำหนดได้เองโดยไม่กระทบจากราคาน้ำมันในตลาดโลก [ปัญหาการขึ้นลงของราคาน้ำมันในตลาดโลกเป็นเรื่องระหว่างรัฐกับผู้ค้าน้ำมัน ประชาชนไม่เกี่ยว] เป็นการ ‘ปลด’ พันธนาการชีวิตของประชาชนจากภาวะขึ้นลงของราคาน้ำมันในตลาดโลกอย่างสิ้นเชิง
.
ขั้นที่ 5
‘สร้าง’ ระบบราคาน้ำมันที่เป็นธรรมและยั่งยืนให้ประชาชนโดยการออกกฎหมายเกี่ยวกับการค้าน้ำมันเชื้อเพลิงใหม่หมดเพื่อให้การดำเนินการตามขั้นตอนที่ 3 และ 4 เป็นไปด้วยความมั่นคงและยั่งยืน