‘พีระพันธุ์’ ระบุการย้ายท่าเรือคลองเตย ต้องพิจารณาผลกระทบต่อระบบการขนส่งน้ำมันทางท่อและประชาชนในพื้นที่ ชี้กระทรวงพลังงาน ร่วมเตรียมพร้อมด้านการป้องกันสาธารณภัยคลังน้ำมันคลองเตย-ยานนาวา
.
วันนี้ (9 สิงหาคม 2567) ที่รัฐสภา นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ตอบกระทู้ถามแยกเฉพาะ ของ นายภัณฑิล น่วมเจิม สส. กทม. เรื่องขอให้ชี้แจงเหตุผลและความจำเป็นของการย้ายคลังน้ำมันในเขตคลองเตยและเขตยานนาวา และโรงกลั่นน้ำมันในเขตพระโขนง กรุงเทพฯ ในประเด็นที่ว่า กระทรวงพลังงานมีการศึกษาความเป็นไปได้ในการย้ายคลังน้ำมันในเขตคลองเตยและเขตยานนาวา และโรงกลั่นน้ำมันในเขตพระโขนง กทม. เพื่อให้สอดคล้องกับผังเมืองกรุงเทพฯ หรือไม่ และกระทรวงพลังงานมีนโยบายหรือแนวทางการป้องกันสาธารณภัย ของคลังน้ำมันในเขตคลองเตยและเขตยานนาวา และโรงกลั่นน้ำมันในเขตพระโขนงอย่างไร
.
นายพีระพันธุ์ ชี้แจงว่า กระทรวงพลังงานเห็นด้วยกับผู้ตั้งกระทู้ถามเกี่ยวกับการศึกษาความเป็นไปได้ของการย้ายคลังน้ำมันออกไปนอกพื้นที่ ประกอบกับนายกรัฐมนตรีได้มีข้อสั่งการ เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2567 ให้กระทรวงพลังงานศึกษาความเป็นไปได้ในการย้ายท่าเรือกรุงเทพ (คลองเตย) ออกจากพื้นที่กรุงเทพฯ ตามแผนพัฒนาพื้นที่ท่าเรือกรุงเทพ ของการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ทั้งนี้ ต้องพิจารณาถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อระบบการขนส่งน้ำมันทางท่อ เนื่องจากคลังน้ำมันและโรงกลั่นดังกล่าวได้ก่อตั้งในพื้นที่มาเป็นระยะเวลานาน และเป็นจุดตั้งต้นในการขนส่งน้ำมันทางท่อ ประกอบด้วย คลังน้ำมัน โรงกลั่น และโครงข่ายระบบขนส่งน้ำมัน หากต้องมีการย้ายคลังออกไปพื้นที่อื่น จะต้องคำนึงถึงค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นในหลักแสนล้านบาท และการกระจายน้ำมันไปสู่พื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมถึงน้ำมันเครื่องบินสำหรับท่าอากาศยานทั้ง 2 แห่ง รวมถึงค่าชดเชยที่ต้องจ่ายให้กับเอกชน ตลอดจนผลกระทบที่เกิดกับประชาชนที่อยู่อาศัยในพื้นที่
.
สำหรับนโยบายหรือแนวทางการป้องกันสาธารณภัยของคลังน้ำมันนั้น กระทรวงพลังงานโดยกรมธุรกิจพลังงานมีภารกิจในการกำกับดูแลและกำหนดมาตรการด้านความปลอดภัยการประกอบกิจการคลังน้ำมันเชื้อเพลิงเท่านั้น ส่วนโรงกลั่นน้ำมันอยู่ภายใต้การกำกับดูแลด้านความปลอดภัยโดยกระทรวงอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตาม กระทรวงพลังงานได้มีการบูรณาการร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ การท่าเรือแห่งประเทศไทย และบริษัทน้ำมัน ในการร่วมฝึกเพื่อเผชิญเหตุและแก้ไขเหตุการณ์วิกฤตที่จะเกิดขึ้น