“พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” รองนายกฯ และ รมว.พลังงาน ตอบกระทู้สด ย้ำชัด ไม่นิ่งนอนใจปมราคาพลังงานแพง ยันเตรียมแผนใหญ่แก้ปัญหาโครงสร้างราคาพลังงานทั้งระบบ ผ่านการออกกฎหมายเพื่อแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม หลังผ่านมา 50 ปี ไม่มีใครแตะ
.
วันที่ 25 กรกฎาคม 2567 นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ตอบกระทู้ถามสดจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในประเด็นเกี่ยวกับพลังงานใน 3 ประเด็น ดังนี้
.
ประเด็นแรก กรณีราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นทำให้ต้องมีการใช้เงินอุดหนุนจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อพยุงราคาทำให้มีการใช้เงินเกินบัญชีมากกว่า 1 แสนล้านบาท
.
ประเด็นนี้ นายพีระพันธุ์กล่าวว่า สำหรับที่มาที่ไปของปัญหาราคาน้ำมันที่มีราคาค่อนข้างสูงนั้น ตนในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้มีการหาต้นเหตุโดยให้มีการรายงานโครงสร้างราคาน้ำมันจากผู้ค้าน้ำมันทำให้ทราบถึงต้นทุนน้ำมันที่แท้จริง และองค์ประกอบของราคาน้ำมัน ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีการกำหนดให้รายงานโครงสร้างต้นทุนราคาน้ำมันเพื่อเข้าใจปัญหาได้อย่างถ่องแท้ เป็นครั้งแรกในรอบ 50 ปี ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาไม่มีใครแตะ
.
ซึ่งในปัจจุบันราคาน้ำมัน มีองค์ประกอบจากต้นทุนน้ำมันที่แท้จริง ภาษีต่าง ๆ รวมถึงส่วนที่ต้องอุดหนุนเข้าไปในกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ราคาต้นทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่นำเข้าในภูมิภาคอาเซียนไม่มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน คือมีต้นทุนประมาณ 20 บาท แต่สิ่งที่มีความแตกต่างกันคือภาษี มีการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตจากน้ำมันอยู่ 3 ประเทศ ประเทศไทยที่อัตรา 5.99 บาทต่อลิตร ประเทศสิงคโปร์ที่อัตรา 5.54 บาทต่อลิตร และประเทศเวียดนามที่อัตรา 1.90 บาทต่อลิตร เทียบกันระหว่างประเทศไทยกับประเทศสิงคโปร์แล้ว แม้อัตราภาษีจะใกล้เคียงกันแต่รายได้ประชากรต่อหัวของสิงคโปร์สูงกว่าไทยมากกว่าถึง 10 เท่า
.
อีกทั้งการจัดเก็บภาษีของประเทศไทยมีการจัดเก็บหลายประเภท ทั้งจากภาษีสรรพสามิต ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีท้องถิ่น และกองทุนต่าง ๆ ดังนั้น จะต้องมีการพิจารณาถึงความเหมาะสมของอัตราภาษี เพื่อสร้างความสมดุลระหว่างรายได้ของประเทศและผลกระทบที่ประชาชนจะได้รับ
.
นายพีระพันธุ์ ย้ำว่า ในอดีตกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงอาศัยอำนาจตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 42/2547 ใช้ 2 ส่วนในการควบคุมราคาน้ำมัน ส่วนแรกเป็นส่วนของการใช้เงินอุดหนุนเพื่อการพยุงราคาน้ำมัน ส่วนที่สองเป็นการกำหนดเพดานภาษีโดยกระทรวงพลังงาน แต่อำนาจในการจัดเก็บภาษียังอยู่ที่กระทรวงการคลัง
.
จนถึงปี 2562 มีการออก พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ที่ได้กำหนดการควบคุมราคาน้ำมันเชื้อเพลิงเหลือเพียงส่วนเดียวผ่านการใช้เงินอุดหนุน แต่กระทรวงพลังงานไม่มีอำนาจใด ๆ ในการกำหนดราคาน้ำมันเชื้อเพลิง จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงต้องใช้จ่ายเงินบัญชีอย่างต่อเนื่องเพื่อพยุงราคาน้ำมันไม่ให้กระทบกับพี่น้องประชาชน
.
ในประเทศมาเลเซียที่ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงถูกกว่าประเทศไทยนั้น ได้อาศัยกลไกการพยุงราคาน้ำมันจากการใช้เงินกองทุนน้ำมันซึ่งในปัจจุบันต้องใช้เงินในการอุดหนุนมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยใช้แหล่งเงินจากค่าธรรมเนียมการส่งออกผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะยกเลิกเนื่องจากใช้งบประมาณในการอุดหนุนมากเกินไป ไม่นานมานี้หลังจากการตัดสินใจลดงบประมาณในการอุดหนุน ทำให้ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในมาเลเซียเพิ่มขึ้นมากกว่า 10 บาทต่อลิตรในวันเดียว
.
สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหาปัจจุบันได้มีการร่างกฎหมายเพื่อให้กระทรวงพลังงานมีอำนาจในการกำหนดเพดานภาษีของน้ำมัน เพื่อเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือในการควบคุมราคาน้ำมัน ซึ่งจะช่วยทั้ง 2 ส่วน คือ การพยุงราคาเพื่อประชาชนและการลดการขาดดุลของกองทุนน้ำมัน
.
สำหรับประเด็นราคาไฟฟ้าและภาระหนี้ที่มีต่อ กฟผ. นั้น นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค กล่าวในประเด็นนี้ว่า โดยพื้นฐานน้ำมันเชื้อเพลิงกับไฟฟ้าไม่แตกต่างกัน สำหรับปัญหาของราคาไฟฟ้าและหนี้ส่วนหนึ่งมาจากสัญญาต่าง ๆ ที่ทำในอดีต ปัจจุบันได้มีการให้คณะกรรมการกฤษฎีกาและสำนักงานอัยการสูงสุดตรวจสอบและหาแนวทางในการปรับเปลี่ยนแก้ไขสัญญาต่าง ๆ เพื่อประโยชน์ของรัฐและประชาชน
.
สำหรับหน่วยงานต่าง ๆ เกี่ยวกับโครงสร้างราคาพลังงานไฟฟ้า เช่นการไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และการไฟฟ้าฝ่ายผลิต เป็นรัฐวิสาหกิจซึ่งมีภาระหน้าที่ประการหนึ่งในการดูแลประชาชนไม่ให้รับภาระจากค่าใช้จ่ายที่สูงจนเกินไป โดยยอมเอาภาระส่วนนี้เป็นขององค์กร แต่ขอยืนยันว่าไม่ได้กระทบกับสถานะทางการเงินของแต่ละองค์กร
และการแก้ไขปัญหาราคาสูงในอนาคตได้มอบหมายให้ ผู้ว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เตรียมข้อมูลเพื่อนำเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาในรูปแบบต่าง ๆ
.
สำหรับในประเด็นร่างแผนพลังงานชาติ นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า ร่างแผนพลังงานชาติได้มีการยกร่างโดยผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้าน ซึ่งหากมีข้อน่าสงสัยหรือห่วงใยในประเด็นใด ๆ ก็ตามจะต้องมีการศึกษาทบทวน เบื้องต้นตนทราบว่าร่างแผนพลังงานชาติฉบับใหม่จะทำให้ราคาค่าไฟฟ้าอยู่ที่ประมาณ 3.80 บาทต่อหน่วย นอกจากนี้แผนดังกล่าวยังมีการเตรียมความพร้อมในการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้ในการผลิตไฟฟ้าเพื่อให้สังคมไทยก้าวสู่สังคมคาร์บอนเป็นศูนย์(Net Zero) ควบคู่กับการควบคุมค่าไฟฟ้าไม่ให้กระทบกับประชาชนด้วย