‘พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล’ รมว.อุตสาหกรรม ฉายภาพการฟื้นฟูพื้นที่โรงงานบริษัท วิน โพรเสส จำกัด ยันไม่ได้นิ่งนอนใจ เร่งแก้ปัญหาอย่างเบ็ดเสร็จไม่ยืดเยื้อ พร้อมเผยวิสัยทัศน์กำกับโรงงานอุตสาหกรรมในอนาคต
.
วันที่ 18 กรกฎาคม 2567 นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดนครศรีธรรมราช เขต 10 พรรครวมไทยสร้างชาติ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ตอบกระทู้ถามสดด้วยวาจาในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร จากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในประเด็นโรงงาน บริษัท วิน โพรเสส จำกัด ในพื้นที่จังหวัดระยองเกิดเหตุเพลิงไหม้ ว่า อันดับแรกขอยืนยันว่าไม่ได้เพิกเฉยหรือว่าละเลยกับปัญหาการกำจัดของเสียในโรงงาน บริษัท วิน โพรเสส จำกัด และการขนย้ายกากของเสียอุตสาหกรรม
.
ทั้งนี้ ขอไล่เรียงที่มาที่ไปของบริษัท วิน โพรเสส จำกัด ทางบริษัทได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการในปี 2560 และประกอบกิจการเรื่อยมาจนได้รับเรื่องร้องเรียนในปี 2564 และศาลได้มีคำสั่งให้บริษัทขนย้ายกากอุตสาหกรรมออกจากพื้นที่และกำจัดของเสียในบริษัทก่อนคืนพื้นที่ ซึ่งทางกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรมได้เพิกถอนใบอนุญาตและบังคับตามคำสั่งศาล แต่ทางบริษัทยังไม่มีการปฏิบัติตามคำสั่งของศาลจนเกิดเหตุการณ์เพลิงไหม้ในวันที่ 22 เมษายน 2567 ที่ผ่านมา
.
สำหรับการดำเนินการของกระทรวงอุตสาหกรรมในกรณีนี้ จะแบ่งออกเป็น การจัดการกับกากของเสียอุตสาหกรรมในโกดังทั้งหมด ด้วยการขนย้ายออกจากพื้นที่ไปยังสถานที่ปลอดภัย และการจัดการน้ำเสียที่มีการปนเปื้อนควบคู่กัน โดยมีที่มาของงบประมาณในการบริหารจัดการของเสียในโรงงานของบริษัท วิน โพรเสส จำกัด จะแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 การแถลงต่อศาลเพื่อนำเงินที่วางเป็นประกันต่อศาลจำนวน 4.9 ล้านบาท ใช้บริหารจัดการในเบื้องต้น ส่วนที่ 2 จากพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ที่ได้ขออนุมัติไปในวงเงิน 90 ล้านบาท
.
และส่วนที่ 3 มาจากการขอจัดสรรงบกลาง ซึ่งมีการส่งเอกสารรายละเอียดครั้งแรกเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา แต่อย่างไรก็ดี ได้ให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมศึกษาในรายละเอียดเพิ่มเติมให้มีความชัดเจน โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายในการกำจัดของเสียในน้ำและน้ำใต้ดิน เนื่องจากกระทรวงอุตสาหกรรมมีบทเรียนจากเหตุการณ์ที่โรงงาน บริษัท แวกซ์ กาเบ็จ รีไซเคิล เซ็นเตอร์ จำกัด ซึ่งการของบกลางในการกำจัดกากของเสียสารเคมีไปแล้วแต่ปัญหาในพื้นที่ยังไม่จบ
.
“ขอยืนยันว่างบประมาณหรือภาษีของพี่น้องประชาชนทุกบาททุกสตางค์จะต้องถูกใช้อย่างคุ้มค่า รอบคอบและที่สำคัญที่สุดต้องแก้ปัญหาให้ได้อย่างเบ็ดเสร็จ”
.
นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าวต่อว่า จากการประชุมเกี่ยวกับกรณีนี้ ล่าสุดหลายฝ่ายมีความเห็นตรงกันว่าจะต้องจัดการกับบ่อกักเก็บของเสียผ่านการป้องกันไม่ให้มีน้ำเข้ามาในพื้นที่เพิ่มเติม ผ่านการผันน้ำออกจากเส้นทางธรรมชาติ ประกอบกับการเสริมคันดินของบ่อกักเก็บของเสีย นอกจากนี้ยังต้องบำบัดน้ำควบคู่กันเพื่อป้องกันการรั่วซึมเข้าสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ
.
สำหรับประเด็นเกี่ยวกับการกำกับดูแลโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ นั้น นางสาวพิมพ์ภัทรา เปิดเผยว่า บทบาทของกระทรวงอุตสาหกรรมถูกแบ่งออกเป็น 2 บทบาทควบคู่กัน คือ บทบาทในการส่งเสริมการลงทุน และบทบาทในการควบคุมกำกับดูแล
.
ในที่นี้จะกล่าวถึงบทบาทในการควบคุมกำกับดูแลเป็นหลัก คือ หากมีโรงงานอุตสาหกรรมใดไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ทางกระทรวงอุตสาหกรรมได้กำกับดูแลผ่านมาตรการทางกฎหมายโดยบังคับใช้จากเบาไปหาหนักโดยปฏิบัติเช่นนี้ตลอดมา
.
ขณะเดียวกัน ทางกระทรวงอุตสาหกรรม ยังเตรียมพร้อมที่จะปรับปรุงกระบวนการในการกำกับดูแล โดยขอยกตัวอย่างจากการกำกับดูแลโรงงานกำจัดกากของเสียอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะมีการนำ EIA มาร่วมพิจารณาใบอนุญาตโรงงาน และเตรียมเพิ่มบทลงโทษกับผู้ที่ฝ่าฝืนรวมถึงผู้มีส่วนร่วมในการกระทำความผิด รวมถึงนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ โดยเฉพาะระบบติดตามการขนย้ายกากของเสียเพื่อตรวจสอบที่มาที่ไปให้ได้อย่างชัดเจน และสุดท้ายมีการเตรียมความพร้อมที่จะมีการกันเงินประกันเพื่อป้องกันกรณีหากเกิดผลเสียแล้วทางบริษัท โรงงานต่าง ๆ ไม่รับผิดชอบต่อสังคม ทำให้เกิดผลเสียต่อพี่น้องประชาชน