‘รมว.พิมพ์ภัทรา’ เดินหน้าขับเคลื่อนอุตสาหกรรมฮาลาล เร่งยกระดับประเทศไทยสู่ศูนย์กลางฮาลาลอาเซียน ภายในปี 2570 พร้อมวางเป้าหมายช่วยดัน GDP ภาคอุตสาหกรรมขยายตัว 1.2% หรือราว 55,000 ล้านบาท คาดช่วยสร้างงานเพิ่ม 100,000 ตำแหน่งต่อปี
.
11 ก.ค.67 นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดนครศรีธรรมราช เขต 10 พรรครวมไทยสร้างชาติ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วยนางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และรองโฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ ได้เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการอุตสาหกรรมฮาลาลแห่งชาติ (กอฮช.) ครั้งที่ 1/2567 โดยมี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมฯ ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล
นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี เปิดเผยว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมฮาลาล ซึ่งจัดตั้งคณะกรรมการอุตสาหกรรมฮาลาลแห่งชาติ จุดเริ่มต้นของการผลักดันให้ประเทศไทยสามารถเปิดตลาดได้มากขึ้น ซึ่งก่อนการประชุม นายกรัฐมนตรีและคณะได้เยี่ยมชมนิทรรศการอาหารฮาลาล เช่น ผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูป เครื่องดื่ม (น้ำผลไม้) ชุดเสื้อผ้าแฟชั่นฮาลาล เครื่องสำอาง น้ำหอม สกินแคร์ และสปา ฯลฯ
.
ทั้งนี้ ในที่ประชุมได้พิจารณาและเห็นชอบความคืบหน้าในการดำเนินงานและงบประมาณการจัดตั้งศูนย์อุตสาหกรรมฮาลาลไทย และ (ร่าง) แผนปฏิบัติการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลไทย ระยะ 4 ปี (พ.ศ. 2567-2570) ซึ่งมีวิสัยทัศน์มุ่งยกระดับอุตสาหกรรมไทยสู่การเป็น ASEAN Halal Hub หรือศูนย์กลางฮาลาลของอาเซียน ภายในปี 2570 ตอบโจทย์นโยบาย IGNITE THAILAND ที่ตั้งเป้าหมายให้ไทยเป็นศูนย์กลางอาหาร (Agriculture & Food Hub)
.
โดยแผนปฏิบัติการฉบับนี้มีเป้าหมายที่จะทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ GDP ของภาคอุตสาหกรรมขยายตัว 1.2% คิดเป็นมูลค่า 55,000 ล้านบาท และสร้างงานในภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น 100,000 ตำแหน่งต่อปี
พร้อมเห็นชอบผลักดันการจัดตั้งไทยแลนด์ ฮาลาล วัลเลย์ (Thailand Halal Valley) เพื่อเป็นศูนย์กลางการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลของประเทศ
.
นอกจากนี้ ที่ประชุมรับทราบสถานการณ์อุตสาหกรรมฮาลาล จากข้อมูลของ Adroit Market Research ระบุว่า ในปี 2020 ตลาดฮาลาลโลก มีมูลค่า 7.2 ล้านล้านเหรียญฯ และคาดว่าจะสูงถึง 11.2 ล้านล้านเหรียญฯ ภายในปี 2028 เนื่องจากประชากรมุสลิมที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ตลาดฮาลาลเกิดการขยายตัว ครอบคลุมอุตสาหกรรม
.
โดยมูลค่าของตลาดการค้าอาหารฮาลาลโลกในปี 2567 อยู่ที่ 2.60 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 5.28 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2573 หรือเพิ่มขึ้น 12.5% เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรมุสลิมโลกและการขยายตัวของเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศมุสลิม นับเป็นโอกาสสำคัญที่ประเทศไทยต้องเข้าไปมีส่วนร่วม
.
ด้านนางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า ขั้นตอนต่อไปหลังจากนี้จะนำ (ร่าง) แผนปฏิบัติการฯ เสนอต่อสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เพื่อให้ความเห็นชอบ โดยแผนปฏิบัติการฯ ได้กำหนดผลิตภัณฑ์และบริการฮาลาลเป้าหมาย (ระยะแรก) ไว้ 5 กลุ่ม ได้แก่
1. อาหารฮาลาล เช่น เนื้อสัตว์ อาหารแปรรูป อาหารทะเล อาหารพร้อมรับประทาน อาหารฮาลาลโดยธรรมชาติ และอาหารมุสลิมรุ่นใหม่
2.แฟชั่นฮาลาล ประกอบด้วย สิ่งทอ อัญมณี และเครื่องหนัง
3.ยา สมุนไพร เครื่องสำอางฮาลาล
4.โกโก้และผลิตภัณฑ์เกี่ยวเนื่อง
5.บริการและการท่องเที่ยวฮาลาล
.
ทั้งนี้ ภายใต้ (ร่าง) แผนปฏิบัติการฯ ปี 2567-2570 ได้วางกรอบใช้งบประมาณทั้งสิ้น 1,230 ล้านบาท ประกอบด้วย 3 มาตรการ คือ
1.การส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศและสร้างความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทานการผลิตฮาลาลไทย
2. การพัฒนาการผลิตได้มาตรฐานอุตสาหกรรมฮาลาลไทย
3.การยกระดับปัจจัยแวดล้อมอุตสาหกรรมฮาลาลไทย โดยมีโครงการที่เป็น Quick Win (พ.ศ. 2567 – 2568) ใช้งบประมาณ 95 ล้านบาท ในการดำเนินงาน ได้แก่ สร้างการรับรู้ศักยภาพสินค้าและบริการอาหารฮาลาลไทย การขยายตลาดสินค้าและบริการอาหารฮาลาลไทยในประเทศและต่างประเทศ การจัดตั้งศูนย์อุตสาหกรรมฮาลาลไทย และการจัดทำระบบ Halal IU ซึ่งจะเป็นฐานข้อมูลรายงานเชิงลึกและวิเคราะห์ตลาด
.
นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าวต่อไปว่า สำหรับศูนย์อุตสาหกรรมฮาลาลไทยจะทำหน้าที่ขับเคลื่อนนโยบายและแผนพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลไทย สร้างกลไกสนับสนุน Ecosystem ของอุตสาหกรรมฮาลาลไทย เพื่อยกระดับเทคโนโลยีและนวัตกรรมการผลิต มุ่งเน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์ ควบคู่กับมาตรฐานสินค้าฮาลาลและมาตรฐานอื่นที่เกี่ยวข้อง ส่งเสริมการขยายตลาดสินค้าและบริการฮาลาล ทั้งในและระหว่างประเทศ รวมถึงทำหน้าที่เป็น National Focal Point ในการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานทั้งในและต่างประเทศ
.
“การพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลไทยจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก สร้างงาน สร้างอาชีพ กระจายรายได้ พัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน รวมทั้งลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความมั่นคงให้แก่ประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนและทั่วถึง”