‘อนุชา บูรพชัยศรี’ สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ
แนะ รัฐบาลใช้นโยบายกึ่งการคลังมาใช้สนับสนุนเฉพาะกลุ่มที่จำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือเท่านั้น หลีกเลี่ยงการกู้เงิน
ชี้ รัฐบาลควรเร่งผลักดันการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ โดยเฉพาะระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ ที่สามารถต่อยอดไปสู่โครงการแลนด์บริดจ์ในอนาคต
นายอนุชา บูรพชัยศรี สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ ได้ร่วมอภิปรายร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 โดยระบุว่า ตนอยากจะเสนอรัฐบาลให้ความสําคัญกับเรื่องของการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ตามแนวทางของสหประชาชาติที่เน้นย้ำในเรื่องเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs ดังนั้น รัฐบาลจะต้องพิจารณาจัดลําดับความสําคัญและความจําเป็นในการใช้จ่ายงบประมาณให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันครอบคลุมทุกการใช้จ่ายภาครัฐ ควบคู่ไปกับการทบทวนและยกเลิกมาตรการลดและยกเว้นภาษี ๆ โดยให้มีเพียงเท่าที่จําเป็นเท่านั้น
นอกจากนั้น ยังอยากเห็นรัฐบาลดําเนินการปฏิรูปโครงสร้างและการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้อย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงการบริหารจัดการหนี้สาธารณะอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อลดขนาดของการขาดดุลการคลัง เตรียมการไว้สําหรับดําเนินนโยบายที่จำเป็นในสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นโดยไม่คาดคิด รวมถึงความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต
“เราไม่มีทางทราบได้เลยว่า จะเกิดอะไรขึ้นอีกในอนาคต เหมือนเช่นกับสถานการณ์ของโควิด-19 ซึ่งทำให้เราต้องปิดประเทศ ไม่สามารถเดินทางทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ ต้อง Work form home มีการปิดห้างร้าน รวมถึงรัฐบาลต้องเร่งจัดหาวัคซีนให้กับพี่น้องประชาชนเพื่อมาฉีดป้องกัน แต่ที่เราผ่านมาได้ ต้องบอกว่าประเทศไทยเรามีเสถียรภาพทางการเงินและมีความมั่นคงทางการคลัง ซึ่งเป็นเกราะป้องกันที่ดีเยี่ยม เพราะฉะนั้นในอนาคตจะเกิดอะไรไม่มีใครตอบได้ แต่เราจะต้องเตรียมการให้พร้อมไว้ตั้งแต่วันนี้”
นายอนุชา กล่าวเพิ่มเติมว่า ตนเห็นด้วยกับรัฐบาลที่จัดทํางบประมาณแบบขาดดุลในปีนี้ เพื่อที่จะสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยได้มีการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่องและมีเสถียรภาพ แต่อย่างไรก็ดี ก็ยังอยากเห็นการปรับลดขนาดการขาดดุลในปีงบประมาณต่อ ๆ ไป โดยหวังว่าหากภาวะเศรษฐกิจไทยขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องเต็มศักยภาพ รัฐบาลสามารถสร้างความเข้มแข็งทางการคลัง ทั้งทางด้านรายได้และรายจ่าย รวมถึงการบริหารหนี้สาธารณะได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อสุดท้ายแล้วรัฐบาลจะสามารถจัดทํางบประมาณสมดุลในระยะที่เหมาะสมได้ในอนาคตอันใกล้นี้
นอกจากนี้ นายอนุชา ยังได้เสนอแนะให้รัฐบาลดําเนินนโยบายที่เรียกว่า กึ่งการคลัง ซึ่งหมายถึงการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อสนับสนุนกลุ่มประชาชนที่ควรได้รับการสนับสนุนและช่วยเหลือในกรณีที่มีความจําเป็นฉุกเฉินเร่งด่วนเท่านั้น และหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องไม่ได้ขอตั้งงบประมาณไว้ล่วงหน้า โดยภายหลังจากดําเนินโครงการแล้วหน่วยงานของรัฐก็สามารถยื่นคําขอจัดสรรงบประมาณโดยตรงกับสํานักงบประมาณต่อไปได้
ทั้งนี้ ทุกรัฐบาลที่ผ่านมาได้ดําเนินนโยบายกึ่งการคลังมาโดยตลอด และที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดคือในช่วงที่เกิดโควิด-19 ซึ่งรัฐบาลขณะนั้น มีความจําเป็นเร่งด่วนในการช่วยเหลือและสนับสนุนเกษตรกร ในช่วงที่ราคาสินค้าสินค้าการเกษตรตกต่ำ โดยปีงบประมาณปี 2565 ทางรัฐบาลได้อนุมัติวงเงินโครงการเพื่อสนับสนุนช่วยเหลือเกษตรกรกว่า 186,000 ล้านบาท มีการเพิ่มสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการรายย่อยกว่า 16,700 ล้านบาท และลดภาระค่าครองชีพให้กับผู้มีรายได้น้อยอีกกว่า 7,000 ล้านบาท จะเห็นได้ว่า นโยบายกึ่งการคลัง เป็นอีกหนึ่งทางเลือกของรัฐบาลที่สามารถนำมาใช้แทนการกู้ยืมเงิน เพราะว่าเรื่องนี้เข้าข่ายตามมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ดังนั้น จึงอยากจะขอเสนอให้รัฐบาลนํานโยบายกึ่งการคลังมาใช้
นอกจากนี้ อยากจะเสนอให้รัฐบาลให้ความสําคัญกับโครงการลงทุนขนาดใหญ่โดยกระจายไปทั่วภูมิภาคต่าง ๆ อย่างเหมาะสม เพื่อที่จะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยและช่วยให้ประเทศไทยจะหลุดจากประเทศที่มีกับดักรายได้ปานกลาง โดยหนึ่งในนโยบายสําคัญที่อยากจะเสนอให้รัฐบาลได้เร่งพิจารณาก็คือการขยายการลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจ 4 ภาค หลังจากที่ประสบความสําเร็จมาแล้วในส่วนของ EEC
โดยเฉพาะระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ หรือ SEC ที่มี 4 จังหวัด ประกอบด้วย สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ชุมพร และระนอง สามารถเดินหน้าได้ทันที เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่พร้อมสร้างอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ ๆ เช่น การนำยางพาราที่มีอยู่จำนวนมาก มาแปรรูปเพิ่มมูลค่าแล้วส่งออก เป็นต้น และยังมีอีกหลายธุรกิจใน 4 จังหวัดนี้ที่สามารถเพิ่มมูลค่าและส่งออกได้ ผ่านทะเล 2 ฝั่ง ทั้งอันดามัน และอ่าวไทย หลังจากสร้างท่าเรือน้ำลึกทั้งสองฝั่งแล้วเสร็จ ส่วนการเชื่อมโยงให้สองฝั่งอันดามันและอ่าวไทยต่อเนื่องกันนั้นจะเป็นระยะถัดไป นั่นคือที่มาของแลนด์บริดจ์นั่นเอง
“จะเห็นว่าผมไม่ได้พูดถึงเรื่องของแลนด์บริดจ์ตั้งแต่ตั้งต้น เพื่อให้เข้าใจว่า ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ จะต้องเกิดขึ้นก่อน เมื่อเกิดขึ้นแล้วเราค่อยว่ากันเรื่องของท่าเรือ เรื่องของถนน จากนั้นจึงเป็นเรื่องของทางรถไฟ ทำเป็นเฟส ๆ ค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งอาจจะไม่ต้องใช้เงินลงทุนนับแสนล้าน หรืออาจจะไม่ต้องให้เอกชนเข้ามาลงทุนเลยก็ได้ นี่คือปัจจัยและหัวใจของ SEC และโครงการแลนด์บริดจ์ว่าจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ และผมอยากเห็นอุตสาหกรรมใหม่ เข้ามาลงทุนใน SEC มากขึ้นด้วย เพราะจากการที่มีโอกาสได้ไปซาอุดีอาระเบีย 2 ครั้ง ทางซาอุฯ สนใจที่จะเข้ามาลงทุนเรื่องพลังงานสะอาดในประเทศไทย ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะจัดตั้งโรงงานผลิตไฮโดรเจนในพื้นที่ดังกล่าว ขณะเดียวกันยังสอดคล้องกับแนวทางเศรษฐกิจสีเขียว หรือ BCG ที่รัฐบาลชุดที่แล้วได้แสดงให้ทั่วโลกได้เห็นและยอมรับไปเมื่อครั้งการประชุมAPEC 2022 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพที่ผ่านมา”