‘ปรเมษฐ์ จินา’ สส.สุราษฎร์ธานี พรรครวมไทยสร้างชาติ ร่วมอภิปราย พ.ร.บ.งบประมาณปี 68 วอนรัฐบาลเพิ่มงบประมาณให้ท้องถิ่นมากขึ้น พร้อมถ่ายโอนอำนาจการบริหารให้ชัดเจน หวังช่วยให้ท้องถิ่นช่วยดูแลประชาชนในพื้นที่ พร้อมตอบโจทย์การพัฒนาประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ
วันที่ 21 มิถุนายน 2567 ดร.ปรเมษฐ์ จินา สส.สุราษฎร์ธานี เขต 5 พรรครวมไทยสร้างชาติ ได้ร่วมอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 โดยระบุว่า จากที่ท่านนายกรัฐมนตรีได้กล่าวในคําแถลงประกอบงบประมาณรายจ่ายประจําปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 โดยแบ่งเป็นศูนย์กลางด้านเศรษฐกิจ 8 ด้าน และ 6 ยุทธศาสตร์หลัก ซึ่งดูแล้วก็ครอบคลุมทุกประเด็น รวมถึงประเด็นย่อย ๆ ที่สมาชิกหลายท่านได้นําเสนอเป็นกระจกสะท้อนการพัฒนาให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องไปแล้ว ดังนั้น จึงอยากจะมาแลกเปลี่ยนข้อมูลร่วมกับสมาชิกทุกท่าน สืบเนื่องจากว่ามีสมาชิกหลายท่านได้นําเรียนข้อมูลในส่วนของการถ่ายโอนและการกระจายอํานาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งถือว่าเป็นหน่วยงาน และมีบุคลากรที่สัมผัสใกล้ชิดประชาชนในเบื้องต้นมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นด้านการศึกษา การดูแลสุขภาพ และการสร้างรายได้ให้กับคนในท้องถิ่น
แต่ทว่าที่ผ่านมา กลับยังคงต้องเผชิญกับปัญหาเรื่องการจัดสรรงบประมาณ แม้ว่าตามกฎหมายกำหนดไว้ว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะได้รับการจัดสรรงบประมาณอยู่ที่ 35% แต่จากข้อมูลย้อนหลังตั้งแต่ปี 2560 ถึงขณะนี้ ซึ่งกำลังทำงบประมาณปี 2568 พบว่างบประมาณในส่วนนี้จะอยู่ที่ราว 29% เท่านั้น ดังนั้น จึงอยากจะนําเรียนผู้เกี่ยวข้องว่า จะเป็นไปได้หรือไม่ที่จะตั้งเป้าเพิ่มขึ้นปีละ 1% เพื่อไปให้ถึง 35% ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ เพราะหากไม่ทำตาม อาจจะมีปัญหาตามมาในภายหลังได้เช่นกัน
ดร.ปรเมษฐ์ กล่าวว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คือ ต้นทางของการกำหนดทิศทางพัฒนาชาติ โดยในเรื่องการศึกษานั้น ซึ่งเริ่มตั้งแต่ระดับศูนย์เด็กเล็ก เป็นการปูพื้นฐานให้เด็กมีพัฒนาการสู่เด็กเก่ง ดี และมีความสุข จากนั้นเมื่อเด็กโตขึ้นมาในระดับประถมศึกษา ในส่วนนี้คงต้องเข้าไปสร้างแรงบันดาลใจในการเรียนให้กับเด็ก ๆ ให้เขาค้นพบตนเองตั้งแต่ในวัยประถม โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือรัฐบาล ควรกําหนดทุนด้านการศึกษาให้ตอบโจทย์ความต้องการของเด็กวัยนี้ให้มากขึ้น ส่วนในระดับมัธยมศึกษานั้น ควรสนับสนุนทุนการศึกษาตามพื้นที่ เช่น ในพื้นที่ติดทะเล เช่น ภูเก็ต สมุย และ สงขลา เป็นต้น ก็จะอาจจะให้ทุนเข้าไปในเรื่องของการต่อเรือ หรืออาชีพอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของแต่ละคน เป็นการตอบโจทย์การสร้างอาชีพให้กับคนในพื้นที่นั้น ๆ ได้อย่างตรงจุด
ส่วนการถ่ายโอนหน่วยงานที่ดูแลในเรื่องสุขภาพของประชาชน ก็ยังมีปัญหาเช่นกัน โดยเฉพาะโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพสต.) ที่ถ่ายโอนไปยังองค์กรส่วนท้องถิ่นก่อนหน้านี้ มีเสียงสะท้อนว่าไม่ได้เป็นไปตามที่กําหนดไว้ รวมทั้งการโอนเงินให้กับรพสต. เหล่านั้นก็ติดขัดระเบียบเยอะแยะมากมาย อย่างเช่น ติดขัดระเบียบของสปสช.ที่ไม่สามารถโอนข้ามกระทรวงได้ ทั้งที่ เวลาโอนให้กับกองทุนหลักประกันสุขภาพพื้นที่ ซึ่งอยู่ที่อบต.และเทศบาลสามารถโอนได้ แต่พอจะโอนไปให้กับรพสต.ที่สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด กลับติดขัดระเบียบ ซึ่งเป็นปัญหาอยู่ระหว่างกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงมหาดไทย
ขณะที่ในส่วนของการแก้ปัญหาด้านรายได้นั้น นับว่าสําคัญเช่นกัน และมีหลายกิจกรรมที่ท้องถิ่นสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมได้ เป็นต้นว่า ด้านการท่องเที่ยว ซึ่งรัฐบาลตั้งเป้าไว้ว่า ปี 2568 จะต้องมีนักท่องเที่ยวเข้ามาสู่ประเทศไทย 39.5 ล้านคน ในหลาย ๆ พื้นที่พร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวทันที เพราะมีส่วนร่วมอยู่ในพื้นที่อยู่แล้ว แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ควรได้รับการบริหารจัดการแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างท้องถิ่นกับรัฐบาลกลางอย่างเหมาะสมและเพิ่มความคล่องตัวให้กับการทำงานด้านบริหารแหล่งท่องเที่ยวให้กับทางท้องถิ่นด้วย
“ผมมองว่า สุดท้ายถ้าเราสามารถจะทําเรื่องขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพและตอบโจทย์ความต้องการของท้องถิ่นจริง ๆ เหมือนกับในหลายประเทศที่ไปศึกษาดูงานมา เชื่อว่าจะทําให้ประเทศไทยเราพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ตามคำกล่าวที่ว่า ชุมชนก้าวหน้า ชาวประชามีกิน ท้องถิ่นคือคําตอบ ครับ”