Skip to content
Home » ‘เกชา’ ซัด!! จัดงบสร้างถนนสุดเหลื่อมล้ำเอื้อประโยชน์ผู้รับเหมารายใหญ่ ปิดโอกาสรายย่อย

‘เกชา’ ซัด!! จัดงบสร้างถนนสุดเหลื่อมล้ำเอื้อประโยชน์ผู้รับเหมารายใหญ่ ปิดโอกาสรายย่อย

‘เกชา ศักดิ์สมบูรณ์’ สส. บัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ ร่วมอภิปรายงบประมาณปี 2568 แนะรัฐบาลเร่งแก้หลักเกณฑ์การจัดซื้อจัดจ้างให้เกิดความเป็นธรรม หลังพบการจัดสรรงบยังเกิดความเหลื่อมล้ำ ขณะที่หลายโครงการเอื้อประโยชน์ให้ผู้ประกอบการยักษ์ใหญ่อย่างชัดเจน ชี้ อาจทำให้ภาครัฐได้รับความเสียหายปีละหมื่นล้าน
 
วันที่ 20 มิถุนายน 2567 นายเกชา ศักดิ์สมบูรณ์ สส. บัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ ได้ร่วมอภิปรายร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 ว่า กรอบงบประมาณปี 2568 ที่รัฐบาลวางไว้ที่ 3,752,700 ล้านบาท ซึ่งเป็นงบขาดทุน 865,700 ล้านบาท และเป็นงบลงทุน 908,224 ล้านบาท แม้จะเป็นงบลงทุนที่สูงมาก แต่ตนเองก็เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง เพราะในจำนวนนี้ยังมีงบกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจอีกจํานวน 152,700 ล้านบาท
 
ทั้งนี้ รัฐบาลจำเป็นต้องตั้งงบประมาณเป็นแบบขาดดุลอยู่แล้ว เพราะรัฐต้องเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้กับประเทศชาติและขับเคลื่อนให้ภาคเอกชนอยู่ได้ ขณะที่เรื่องการจ่ายเงินดิจิทัล วอลเล็ต จํานวน 500,000 ล้านบาทนั้น ตนเองก็เห็นด้วยกับทางรัฐบาลเช่นกัน เพราะเป็นการช่วยเติมเงินให้เงินหมุนเวียนในระบบ ซึ่งเม็ดเงินที่จะนำมาใช้ในโครงการนี้ มาจากงบประมาณของปี 2567 จํานวน 175,000 ล้านบาท จากงบประมาณปี 2568 ซึ่งกำลังพิจารณาอยู่ในขณะนี้ 152,700 ล้านบาท และมีข่าวว่าจะกู้จากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) อีก 172,300 ล้านบาท
.
 
ซึ่งข่าวดังกล่าว ทำให้พี่น้องเกษตรกรกังวลว่า ในอนาคตจะไม่มีเงินให้กู้มาใช้ในกิจกรรมด้านการเกษตร ขณะเดียวกันก็มีข้อสังเกตว่า เงินของธกส.นั้นมีไว้เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อย ดังนั้น ตนจึงอยากจะขอแนะนำรัฐบาลให้นำระบบบริหารการเงินการคลังภาครัฐแบบอิเล็กทรอนิกส์ (GFMIS) มาใช้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกระดับ ซึ่งระบบดังกล่าวจะช่วยแก้ปัญหาทุจริตการเบิกจ่ายเงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และองค์กรเหล่านั้นมีเงินสะสมอยู่เป็นจำนวนมาก เชื่อว่าจะทำให้มีเงินหมุนเวียนเข้ามาในระบบของภาครัฐ 4 – 5 แสนล้านบาท ซึ่งรัฐบาลสามารถหยิบยืมเงินจากส่วนนี้แล้วนำมาใช้คืนในภายหลังได้โดยไม่ต้องกู้ ธกส.
 
“โดยส่วนตัวแล้ว มีความเห็นว่ารัฐบาลควรแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตทุก ๆ สองปี เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและช่วยให้ภาคครัวเรือนมีการใช้จ่ายที่ดีขึ้น และเรายังมีงบกลางที่ตั้งไว้ในแต่ละปีอีกส่วนหนึ่ง หากเหลือจากใช้จ่ายแล้ว ก็ไม่ต้องให้หน่วยงานนํากลับไปใช้อีกให้โอนงบกลางกลับไปให้รัฐบาล จากนั้นค่อยนํากลับไปใช้ทําสวัสดิการผู้สูงอายุหรือผู้พิการหรือค่าใช้จ่ายภาคอื่น ๆ อีกก็ได้เช่นกัน”
 
นายเกชา ยังได้กล่าวถึงการจัดซื้อจัดจ้างในปัจจุบันด้วยว่า เมื่อเดือนมกราคม 2567 ที่ผ่านมา ตนได้อภิปรายถึงการจัดซื้อจัดจ้าง และท่านนายกรัฐมนตรี ซึ่งในขณะนั้นควบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอยู่ด้วย ได้รับปากว่าจะเรียกอธิบดีกรมบัญชีกลาง มาแก้ไขเรื่องหลักเกณฑ์ที่ไม่เป็นธรรมเรื่องของการจัดซื้อจัดจ้างในการประมูล ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ โดยเฉพาะเรื่องการเลื่อนชั้นประมูลจากชั้นหนึ่งไปชั้นพิเศษ ซึ่งจะต้องมีการปรับเปลี่ยน แต่ผ่านมา 5 – 6 เดือนแล้ว แต่เรื่องดังกล่าวก็ยังไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด
 
นอกจากนี้ ตนอยากจะขอให้ติดตามการจัดสรรงบประมาณปี 2568 ของกรมทางหลวงด้วย เนื่องจากพบว่ามีความเหลื่อมล้ำอยู่พอสมควร ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า โครงการที่อยู่ในช่วงเงินไม่เกิน 600 ล้านบาท มีเพียง 9 โครงการวงเงิน 3,415 ล้านบาทเท่านั้น แต่โครงการที่เกิน 600 ล้านบาท กลับมี 111 โครงการ และยังมีของกรมทางหลวงชนบทอีก 13 โครงการรวมทั้งสิ้น 124 โครงการ รวมเป็นเงินทั้งสิ้นกว่า 95,000 ล้านบาท ซึ่งเห็นได้ชัดว่า แทบจะไม่มีโครงการที่งบต่ำกว่า 600 ล้านบาท ไว้ให้กับผู้ประกอบการรายย่อยได้ดําเนินการเลย
 
“การจัดสรรงบประมาณแบบนี้ ถือว่ามีความเหลื่อมล้ำอย่างที่สุด ซึ่งไม่เคยมีปรากฎมาก่อน แน่นอนว่า ย่อมทําให้ผู้ประกอบการรายย่อยเดือดร้อน แสดงให้เห็นถึงการเอื้อผลประโยชน์กับผู้ประกอบการรายใหญ่ ซึ่งเป็นผู้ประกอบการก่อสร้างทางชั้นพิเศษ เป็นผลจากการที่กรมบัญชีกลางยังไม่ได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์ที่ไม่เป็นธรรม ทําให้หน่วยงานตั้งงบประมาณให้เกิน 600 ล้านบาทเข้าไว้ ซึ่งมีผู้ประกอบการประมาณเพียง 70 รายที่อยู่ในระดับนี้ ทําให้เกิดการสมยอมกัน ถือเป็นการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม และในเรื่องเหล่านี้ก็มีคนได้ประโยชน์นับเป็นหมื่นล้านบาทเลยทีเดียว”
 
นายเกชา กล่าวต่อว่า จากผลการประมูลของผู้รับเหมาชั้นพิเศษของงบประมาณปี 2567 ที่กำลังใช้อยู่ขณะนี้ พบว่าผลการประมูลโดยเฉลี่ยแล้วลดลงไม่ถึง 0.05% ส่วนผลการประมูลของผู้รับเหมาชั้นหนึ่ง ก. ชั้นหนึ่ง และชั้นสอง จะพบว่า เฉลี่ยลดลงถึงประมาณ 20% จากผลประมูลดังกล่าว ถ้ารวมทั้งปี 2567 และ ปี 2568 ด้วย จะทําให้รัฐเสียหาย ก็ไม่ต่ำกว่า 20,000 ล้านบาท และถ้านําโครงการปี 2567 และปี 2568 รวมกันก็จะมีโครงการที่เกิน 600 ล้านบาทนั้นถึง 169 โครงการ มีผู้ประกอบการเพียง 70 ราย แต่ที่น่าแปลกใจก็คือ โครงการเหล่านี้ มีเจ้าของหรือมีผู้ได้รับงานทั้งหมดแล้ว ทั้ง ๆ ที่ งบประมาณยังไม่ผ่านวาระแรกเลยด้วยซ้ำ
 
ทั้งนี้ ตนอยากจะฝากกรรมาธิการงบประมาณด้วยว่า หากเป็นไปได้ช่วยตัดงบประมาณที่เกิน 600 ล้านบาทออกมาซัก 10 หรือ 20 โครงการ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายย่อยมีสิทธิ์เข้าประมูลแข่งขันรับงานจากภาครัฐบ้าง
 
นอกจากนี้ ยังทราบมาว่า โครงการทางด่วน 16 ตอน ตอนละ 1,000 ล้านบาทนั้น ในปัจจุบันได้รวบเหลือเพียงหนึ่งตอนเป็น16,000 ล้านบาท ซึ่งอยากจะถามว่า การกระทำเช่น เพื่อเก็บไว้ให้ใคร ว่ากันว่า เอาไว้ให้กับบริษัทยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่ง ซึ่งมีชื่อขึ้นต้นด้วยตัว ‘I’ นั่นเอง ทั้งนี้ คงต้องติดตามกันต่อไปว่า จะเป็นตามที่ตนได้พูดไว้หรือไม่
 
ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีโครงการรถไฟทางคู่อีกหลายโครงการ ซึ่งมีผู้รับเหมายักษ์ใหญ่อักษรย่อ ช.ช้าง ตัวยู ตัวเอ ที่รับงานเหล่านี้เช่นกัน
 
นอกจากนั้น กรมบัญชีกลาง ยังปล่อยให้หน่วยงานต่าง ๆ เพิ่มเงื่อนไขที่ไม่จําเป็นเข้าไปในเอกสารประกวดราคาอีก เช่น ไฟฟ้านวัตกรรมหรือไฟแอลอีดี ยางโพลีเมอร์ ยางพารา เป็นต้น หรือกำหนดว่า ต้องเป็นตัวแทนจําหน่าย ต้องมีหนังสือรับรองอะไรอีกมากมายที่ใส่เงื่อนไขเพิ่มเข้าไป แต่ทางกรมบัญชีกลางก็นิ่งเฉยปล่อยให้เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้น
 
ทั้งนี้ ตนมองว่า กรมบัญชีกลางนั้นไม่เข้มแข็งพอ ทั้งที่เป็นหน่วยงานจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ แต่กลับให้หน่วยงานที่เป็นเจ้าของงานเข้ามาแทรกแซง ด้วยการเข้ามาเป็นกรรมการในหน่วยงาน ซึ่งมีส่วนได้เสียและมีผลประโยชน์ทับซ้อน
 
เพราะฉะนั้น ส่วนตัวจึงเชื่อว่า งบประมาณปี 2568 ที่จะใช้ตั้งแต่เดือนตุลาคมนี้ ในส่วนของหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ที่เคยบอกว่าจะแก้ไข ก็คงไม่สามารถทําได้ ทั้ง ๆ ที่กรรมาธิการศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ ที่มีนายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ เป็นประธานคณะกรรมาธิการ ได้เรียกกรมบัญชีกลางมาชี้แจงหลายครั้ง ซึ่งทางกรมบัญชีกลางรับปากจะดําเนินการแก้ไข แต่ผ่านมาแล้วสองปีตั้งแต่สมัยรัฐบาลที่แล้ว ทุกอย่างก็ยังอยู่เหมือนเดิม
 
“ขอฝากทางคณะกรรมการจัดซื้อจัดจ้างว่า จากการที่ภาครัฐเร่งรัดการเบิกจ่าย ซึ่งทําให้การจัดซื้อจัดจ้างนั้นถูกรวมอยู่ในไตรมาสเดียว ดังนั้น ควรจะทำเป็นสองไตรมาส เพื่อลดการแข่งขันในการใช้ทรัพยากร ทั้งบุคลากรและวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ อย่างเช่น ปูนซิเมนต์ และยางมะตอย ที่ขึ้นราคาอย่างมากมาก โดยปูนซิเมนต์ขึ้นตันละ 300 – 400 บาท ส่วนยางมะตอยขึ้นตันละ 4,000 – 5,000 บาท ในช่วงที่รัฐดําเนินการจัดซื้อจัดจ้าง แล้วจัดประมูลพร้อม ๆ กัน ซึ่งทำให้ภาครัฐเกิดความเสียหาย จากการต้องจ่ายค่า K ให้กับผู้ประกอบการในสัญญาที่ปรับราคาได้ อย่างไรก็ตาม ทางฝั่งเอกชนก็ได้สะท้อนมาว่า ในส่วนค่า K ที่ต้องจ่ายคืนให้รัฐนั้น เอกชนต้องจ่ายภายใน 15 วัน แต่ในทางกลับกัน กรณีที่รัฐต้องจ่ายให้เอกชนใช้เวลา 2-3 ปี ดังนั้น เป็นไปได้หรือไม่ที่จะจ่ายได้เร็วกว่านี้ เพราะผู้ประกอบการไม่มีเงินหมุนเวียน ส่วนการเบิกจ่ายเงินล่วงหน้าหรือเงินแอดวานซ์นั้น หากภาครัฐต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจจริง ๆ ก็ควรเพิ่มจาก 15% เป็น 20% สุดท้ายขอฝากท่านนายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้ารัฐบาล ขอให้ใช้งบประมาณให้เกิดประสิทธิภาพอย่างสูงสุด”
 

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า