Skip to content
Home » ‘สัญญา’ หวังรัฐบาลผลักดันโครงการผันน้ำยม สร้างมูลค่าให้ประเทศ 2 หมื่นล้าน/ปี

‘สัญญา’ หวังรัฐบาลผลักดันโครงการผันน้ำยม สร้างมูลค่าให้ประเทศ 2 หมื่นล้าน/ปี

‘สัญญา นิลสุพรรณ’ สส. จังหวัดนครสวรรค์ พรรรวมไทยสร้างชาติ ร่วมอภิปราย พ.ร.บ.งบประมาณปี 68 หนุนรัฐบาลผลักดันโครงการผันน้ำยม เติมปริมาณน้ำเข้าเขื่อนภูมิพลให้สำเร็จ หลังผลการศึกษาโครงการพบ จะสร้างมูลค่าให้ประเทศไทย ทั้งด้านการเกษตรและการผลิตไฟฟ้า สูงถึง 20,000 ล้านบาทต่อปี

วันที่ 20 มิถุนายน 2567 นายสัญญา นิลสุพรรณ สส. จังหวัดนครสวรรค์ เขต 3 พรรครวมไทยสร้างชาติ ได้ร่วมอภิปรายร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 ว่า ในการอภิปรายงบประมาณในวันนี้ ส่วนตัวแล้วอยากจะโฟกัสไปที่งบประมาณของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยเฉพาะกรมชลประทาน ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากการลงพื้นที่และได้รับเสียงสะท้อนจากพี่น้องเกษตรกรอยู่ตลอดเวลา

ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่า การจัดสรรงบประมาณของกรมชลประทานนั้นมีความเหมาะสมลงไปยังภูมิภาคต่าง ๆ แต่อย่างไรก็ดี ในวันนี้ อยากจะเน้นไปที่ลุ่มน้ำ ปิง วัง ยม น่าน และเจ้าพระยา ซึ่งเป็นแหล่งน้ำสำคัญที่หล่อเลี้ยงพื้นที่เพาะปลูกในพื้นที่ภาคกลางและสายน้ำหัวใจหลักของประเทศ ดังนั้น จึงต้องให้ความสำคัญกับโครงการผันน้ำยมเพื่อเติมปริมาณน้ำให้กับเขื่อนภูมิพล แหล่งน้ำต้นทางของแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งปัจจุบันเขื่อนภูมิพลมีปริมาณกักเก็บน้ำอยู่ที่ 40% ของความจุเท่านั้น ยังสามารถเติมน้ำได้อีกจำนวนมาก

“เรื่องนี้มีการศึกษามานานกว่า 10 ปี มีการผลักดันโดยภาคประชาชนและผ่านการตรวจสอบจากหน่วยงานราชการต่าง ๆ แต่ก็ต้องยอมรับว่า การก่อสร้างโครงการใหญ่ ๆ ยอมมีผลกระทบ อีกทั้ง ยังมีข้อห่วงใยและข้อสังเกตจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเพิ่มเข้ามาอีกด้วย แต่ก็ต้องขอบคุณท่านธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่เห็นความสําคัญและได้ตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษาผลกระทบต่าง ๆ และตั้งความหวังว่าทางรัฐบาลจะผลักดันโครงการนี้ให้สำเร็จ เพราะจากผลการศึกษาพบว่า เราจะสามารถเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรและการผลิตไฟฟ้า ซึ่งจะมีสร้างมูลค่ารวมกันสูงถึง 20,000 ล้านต่อปี”

นายสัญญา กล่าวด้วยว่า หากโครงการนี้ได้รับการผลักดันให้เกิดขึ้นเป็นผลสำเร็จ จะสร้างประโยชน์อย่างมหาศาลและถือเป็นความฝันของพี่น้องจากภาคเหนือไล่ตั้งแต่แม่ฮ่องสอนลงมาจนมาถึงภาคกลาง และพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งจะทําให้ประเทศไทยมีพื้นที่เพาะปลูกและเป็นแหล่งอาหารของโลกได้อย่างแท้จริง ดังนั้น จึงขอฝากความหวังไว้กับรัฐบาลว่า อาจจะบรรจุไว้ในร่างพระราชบัญญัติงบประมาณ ปี 2569 เพื่อสานต่อความฝันของประชาชนในลุ่มน้ำเจ้าพระยาต่อไป

พร้อมกันนี้ นายสัญญา ยังกล่าวถึงข้อกังวลของพี่น้องประชาชนในพื้นที่อำเภอบรรพตพิสัย จังหวัดนครสวรรค์ เกี่ยวกับการกำหนดลุ่มน้ำที่ประกาศไว้ในพระราชกฤษฎีกาล่าสุด ซึ่งอาจจะเกิดข้อผิดพลาดจากบริษัทที่ทำการศึกษาและนำเสนอ เนื่องจากพบว่า หลายตำบลของอำเภอพรรพตพิสัย ได้แก่ ตําบลเจริญผล, ตาขีด, ตาสัง, บางแก้ว, บางตาหงาย, บ้านแดน, หูกวาง และอ่างทอง ซึ่งนับเป็นครึ่งหนึ่งของอําเภอบรรพตพิสัยอยู่ในลุ่มน้ำปิง แต่ตําบลตาสัง, ด่านช้าง, บึงปลาทู, หนองกรด, หนองตางู และพื้นที่บางส่วนของตําบลเจริญผล, ตาขีด และบางตาหงาย รวมทั้งพื้นที่บางส่วนของจังหวัดพิจิตร ไปอยู่ในลุ่มน้ำน่าน ซึ่งในความเป็นจริงแล้วไม่น่าจะถูกต้อง เพราะพื้นที่ตำบลหนองตางู ซึ่งเป็นพื้นที่บ้านเกิดขึ้นตนนั้น ไม่ได้อยู่ในลุ่มน้ำน่านแต่อย่างใด และในพื้นที่ที่กล่าวมาล้วนแต่ใช้น้ำจากลุ่มน้ำปิงเป็นหลัก ดังนั้น จึงอยากจะฝากไปถึงสํานักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรจะเข้าไปศึกษาและกำหนดลุ่มน้ำให้ชัดเจน


แต่อย่างไรก็ตาม พี่น้องประชาชน ใน 3 จังหวัด ทั้งกําแพงเพชร นครสวรรค์ และพิจิตร ต้องขอขอบคุณรัฐบาล ทั้งชุดที่แล้วและชุดปัจจุบัน ที่ได้ดำเนินการโครงการสร้างฝายชั่วคราวกั้นแม่น้ำปิง (โครงการหนองขวัญ) เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ เป็นโครงการที่ก่อประโยชน์แก่พี่น้องประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวเป็นอย่างมาก’

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า