Skip to content
Home » รมว.พิมพ์ภัทรา มอบนโยบาย ‘รื้อ ลด ปลด สร้าง’

รมว.พิมพ์ภัทรา มอบนโยบาย ‘รื้อ ลด ปลด สร้าง’

รมว.พิมพ์ภัทรา เร่งเครื่อง ‘ก.อุตสาหกรรม’ มอบนโยบาย ‘รื้อ ลด ปลด สร้าง’ หนุนอุตฯ กระตุ้นเศรษฐกิจไทยตอบโจทย์ตลาดโลก คำนึงถึงประโยชน์และผลกระทบประชาชนเป็นสำคัญ

วันที่ 27 พฤษภาคม 2567 นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เป็นประธานการประชุมสัมมนามอบนโยบายเพื่อผลักดันการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศสู่การขับเคลื่อนในระดับพื้นที่ ซึ่งจัดโดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม โดยมีนายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นางสาวไพลิน เทียนสุวรรณ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายเอกภัทร วังสุวรรณ นายบรรจง สุกรีฑา นายใบน้อย สุวรรณชาตรี นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายวิษณุ ทับเที่ยง หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม นายเดชา จาตุธนานันท์ นายวีระกิตติ์ รันทกิจธนวิชญ์ นายศุภกิจ บุญศิริ นายเอกนิติ รมยานนท์ นายเศรษรัชต์ เลือดสกุล ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม ผู้บริหารระดับสูงกระทรวงอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมจังหวัด และผู้แทนอุตสาหกรรมจังหวัด เข้าร่วมด้วย ณ ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมเซ็นจูรี่ พาร์ค กรุงเทพฯ

รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า จากวันแรกที่เข้ารับตำแหน่งจนถึงวันนี้ มีความมุ่งมั่นและตั้งใจที่จะเข้ามาขับเคลื่อนงานของกระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อให้เป็นที่พึ่งของผู้ประกอบการและประชาชนอย่างแท้จริง พร้อมมอบนโยบาย “รื้อ ลด ปลด สร้าง” เพื่อเป็นแนวทางในการทำงานให้กับผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ทุกระดับที่ปฏิบัติงานภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรมทั่วประเทศได้นำไปปรับใช้ในการเร่งรัดสนับสนุนและแก้ไขปัญหาให้กับผู้ประกอบการ พร้อมสร้างปัจจัยแวดล้อมที่เอื้ออำนวย โดยมีเป้าหมายให้ภาคอุตสาหกรรมเป็นกลไกสำคัญ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ และอยู่คู่กับประชาชนและสังคมได้อย่างยั่งยืน

การดำเนินภารกิจให้สำเร็จนั้น จะทำโดยลำพังไม่ได้ ต้องอาศัยการร่วมแรงร่วมใจของทุกหน่วยงานในกระทรวงอุตสาหกรรม โดยเฉพาะหน่วยงานในระดับพื้นที่ต้องมีบทบาทที่เข้มแข็งมากขึ้น เพื่อให้การขับเคลื่อนนโยบายเร่งด่วนเกิดผลอย่างรวดเร็วเป็นรูปธรรมในระดับพื้นที่ ประกอบด้วย รื้อ ปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบให้เอื้อต่อการประกอบกิจการอุตสาหกรรมมากยิ่งขึ้น อย่าให้ใครมาตราหน้าว่าเป็น “แดนสนธยา ป่าหิมพานต์ ทำงานอยู่ใต้ดิน” เราต้องสื่อสารต่อประชาชนให้เข้าใจ ต้องมีคำตอบด้วยผลงานที่แสดงให้เห็นเป็นรูปธรรม ลด ความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นจากการประกอบการ ซึ่งต้องพิจารณาทั้งระบบตั้งแต่ก่อนการอนุญาตไปจนถึงการกำกับดูแลและการปราบปรามผู้กระทำความผิด ให้อุตสาหกรรมจังหวัดทุกจังหวัดจัดทำแผนแก้วิกฤติโดยฝากปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมกำกับดูแล ปลด ภาระให้ผู้ประกอบการ ลดกระบวนการทำงานที่ไม่จำเป็น รวบรวมรายชื่อผู้ประกอบการให้อยู่ที่เดียวทั้งหมด และสามารถใช้แพลตฟอร์มกลาง ทั้งนี้เพื่อสะดวกต่อการประเมินว่า มีผู้ประกอบการกี่รายที่ได้รับผลกระทบต่อกติกาใหม่ของโลกเพื่อเตรียมพร้อมรับมือ เพื่อให้คงไว้ซึ่งอุตสาหกรรมของประเทศนี้ต่อไป และ สร้าง โอกาสให้ผู้ประกอบการสร้างอุตสาหกรรมใหม่ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศชาติ สร้างงาน สร้างอาชีพ เพื่อประโยชน์ของประชาชน

นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าวต่อไปว่า เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทยให้เดินหน้าสู่อนาคตที่ดีขึ้น กระทรวงอุตสาหกรรมพร้อมผลักดันโครงการใหม่ ๆ เช่น การขับเคลื่อน Green Productivity
เพิ่มขีดความสามารถใน การแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมไทยอย่างยั่งยืน โดยนำเทคโนโลยี นวัตกรรมและการวิจัย มาใช้พัฒนากระบวนการผลิตและผลิตภัณฑ์ การจัดตั้งนิคม Circular แห่งแรกของประเทศไทยในพื้นที่ EEC มุ่งหวังให้เป็นพื้นที่เป้าหมายของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสีเขียวและเศรษฐกิจหมุนเวียน การเดินหน้าขับเคลื่อนอุตสาหกรรมฮาลาลอย่างต่อเนื่อง รวมถึงส่งเสริมอุตสาหกรรมที่ใช้ทรัพยากรภายในประเทศ เพื่อต่อยอดสู่การเป็นศูนย์กลางเมืองแห่งอุตสาหกรรมระดับโลกตามวิสัยทัศน์ประเทศไทย อาทิ อุตสาหกรรมการผลิตปุ๋ยจากแร่โพแทช ส่งเสริมการใช้แร่ลิเทียมผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า อุตสาหกรรมโกโก้ ยกระดับการผลิตและสร้างมูลค่าเพิ่มแก่อุตสาหกรรมเกษตรไทย อุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพ รองรับการเป็นศูนย์กลางการแพทย์และสุขภาพนานาชาติ
“ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา กระทรวงอุตสาหกรรมต้องเผชิญกับความท้าทายในหลายด้าน เพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาไม่ให้เกิดขึ้นอีก รวมถึงสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน กระทรวงอุตสาหกรรมจึงต้องปรับสู่การเป็นหน่วยงานที่ “สู้ให้ทุกปัญหา พึ่งพาได้ทุกเรื่อง” โดยคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ เจ้าหน้าที่ อก. ต้องเข้าไปช่วยแก้ปัญหาและเป็นที่พึ่งของผู้ประกอบการและประชาชนในพื้นที่ได้ในทุกเรื่องอย่างทันท่วงที ตลอดจนขจัดอุปสรรคต่าง ๆ เช่น การปรับปรุง พ.ร.บ.โรงงาน การเพิ่มบทลงโทษผู้กระทำผิด การผลักดันการจัดตั้งกองทุนเพื่อใช้ในการแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย รวมถึงการผลักดันการแก้ปัญหาเรื่องผังเมือง
โดยบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง” นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าว

นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ภายใต้สถานการณ์ความท้าทายในการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เราต้องเผชิญอยู่ในปัจจุบัน ทำให้ทิศทางการพัฒนาประเทศมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาอย่างยั่งยืนและทั่วถึง ครอบคลุมมิติของสังคมและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ดังนั้น การพัฒนาเชิงพื้นที่จึงเป็นนโยบายที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมให้ความสำคัญสูง โดยมุ่งเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมที่สอดรับกับศักยภาพของพื้นที่และนโยบายการพัฒนาเชิงพื้นที่ของรัฐบาล เพื่อให้เกิดการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย และเกิดการกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค ลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ สร้างการเติบโตของเศรษฐกิจแบบมีส่วนร่วม (Inclusive Growth) ได้อย่างยั่งยืนต่อไป

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า