Skip to content
Home » รัฐมนตรีฯ พิมพ์ภัทรา นำคณะลงพื้นที่ ครม.สัญจรครั้งที่ 3

รัฐมนตรีฯ พิมพ์ภัทรา นำคณะลงพื้นที่ ครม.สัญจรครั้งที่ 3

รัฐมนตรีฯ พิมพ์ภัทรา นำคณะผู้บริหาร อก. ลงพื้นที่ ครม.สัญจรนอกสถานที่ ครั้งที่ 3 ราชบุรี-เพชรบุรี ตรวจเยี่ยมฝึกอาชีพชุมชน สร้างงาน สร้างอาชีพให้เกิดการกระจายรายได้สู่ชุมชน สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน”

13 พฤษภาคม 2567 – นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วย นางสาวศิรินันท์ ศิริพานิช ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงอุตสาหกรรม นายดนัยณัฏฐ์ โชคอำนวย ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายบรรจง สุกรีฑา นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายเดชา จาตุธนานันท์ นายเอกนิติ รมยานนท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม นางวรวรรณ ชิดอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นายวิฤทธิ์ วิเศษสินธุ์ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย นายวาที พีระวรานุพงศ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นายอนันต์ ฟักสักข์ รักษาการรองอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ นางบุปผา กวินวศิน รองผู้ว่าการ (พัฒนาที่ยั่งยืน) การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นายพิชิต มิทราวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ร่วมลงพื้นที่

สำหรับจุดแรก รัฐมนตรีฯ พิมพ์ภัทรา และคณะลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมกิจกรรมฝึกอาชีพของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ณ โรงเรียนรัตนราษฎร์บำรุง อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ซึ่งมีการอบรมในหลักสูตรการตัดต่อภาพ/คลิป การทำไข่เค็ม การทำยาหม่องน้ำ และการทำสบู่สมุนไพร จุดที่ 2 ตรวจเยี่ยมกิจกรรมฝึกอาชีพ ณ วิทยาลัยเทคนิคราชบุรี อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี ซึ่งมีการอบรมในหลักสูตรเค้กกล้วยหอมนึ่ง ซาลาเปานึ่ง สบู่น้ำผึ้งหัวไชเท้า และการตัดต่อภาพ ซึ่งแต่ละจุดมีผู้เข้ารับร่วมกิจกรรม จุดละประมาณ 300 คน โดยมีนายปิยพงศ์ ชูวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ประธานคณะกรรมาธิการการอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเขต 4 จังหวัดราชบุรี ดร.เกศสุดา เนรมิตธนไพศาล ผู้อำนวยการโรงเรียนรัตนราษฎร์บำรุง ดร.สมพงษ์ พนมชัย ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคราชบุรี ให้การต้อนรับ

จากนั้นในช่วงบ่าย ได้เดินทางไปยังจังหวัดเพชรบุรี เพื่อตรวจเยี่ยมกิจกรรมฝึกอาชีพ ในจุดที่ 3 ณ วิทยาลัยอาชีวศึกษาเพชรบุรี อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งมีการอบรมในหลักสูตรการทำไข่เค็ม การทำเค้กกล้วยหอม การทำซาลาเปา และการทำสบู่สมุนไพร จุดที่ 4 ตรวจเยี่ยมกิจกรรมฝึกอาชีพ ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ณ โรงเรียนบ้านลาดวิทยา อำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งมีการอบรมในหลักสูตรการทำไข่เค็ม การทำเค้กกล้วยหอม การทำซาลาเปา และการทำสบู่สมุนไพร มีผู้เข้ารับร่วมกิจกรรมจุดละประมาณ 300 คน โดยมีนางธิวัลรัตน์ อังกินันทน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเพชรบุรี เขต 1 นางเพ็ญศรี ติฐิโต รองผู้อำนวยการวิทยาลัยอาชีวศึกษาเพชรบุรี นางอาภัสสยา แก้วโกศล นายกเทศมนตรีตำบลบ้านลาด ให้การต้อนรับ

รัฐมนตรีฯ พิมพ์ภัทรา กล่าวว่า การยกระดับประเทศไทยให้สามารถก้าวข้ามจาก “กับดักรายได้ปานกลาง” สู่ประเทศรายได้สูงที่มีการกระจายรายได้อย่างทั่วถึงนั้น จะต้องอาศัยรากฐานที่มั่นคงและแข็งแรง กระทรวงอุตสาหกรรม จึงได้กำหนดนโยบายในการส่งเสริมและพัฒนาภาคอุตสาหกรรมไทยให้สอดรับกับความมุ่งมั่นของรัฐบาลที่จะใช้ “การพัฒนาที่ยั่งยืน” เป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยให้ความสำคัญกับการสร้างความสำเร็จอย่างสมดุลใน “4 มิติ” ทั้งด้านความสามารถในการแข่งขัน การได้รับการยอมรับจากชุมชนและสังคม การตอบโจทย์กติกาสากลด้านสิ่งแวดล้อม และการกระจายรายได้สู่ชุมชนให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยให้ความสำคัญกับการยกระดับเศรษฐกิจฐานรากให้มีความเข้มแข็ง ด้วยการสนับสนุนให้ประชาชนมีอาชีพมั่นคงจากต้นทุนในชุมชน ทั้งต้นทุนทางวัฒนธรรมและวัตถุดิบในท้องถิ่น พร้อมพัฒนาทักษะอาชีพเสริม ผนวกกับวิชาการอุตสาหกรรมให้เข้ากับวิถีชุมชน ให้กระบวนการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำมีมาตรฐานมากขึ้น

กระทรวงอุตสาหกรรมจึงเลือกปักหมุดที่ “จังหวัดราชบุรี” และ “จังหวัดเพชรบุรี” โดยมุ่งสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม ด้วยการสร้างงาน สร้างอาชีพให้เกิดการกระจายรายได้สู่ชุมชน ลดรายจ่ายภาคครัวเรือน ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำจากระดับชุมชน ควบคู่กับการส่งเสริมการเข้าถึงและการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรท้องถิ่นให้มีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อสร้างรายได้ที่ยั่งยืนให้กับประชาชน โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม สนับสนุนการพัฒนาเชิงพื้นที่อย่างต่อเนื่อง

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวอีกว่า กรอบการตรวจราชการ ได้มุ่งเน้นขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืนด้วยพลังแห่งภูมิภาค สู่ทักษะอาชีพที่ยั่งยืน สะท้อนให้เห็นผ่าน 4 จุดที่ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมกิจกรรมฝึกอาชีพ พบว่า มีการผสมผสานศักยภาพด้านการค้า การลงทุน การบริการ การท่องเที่ยว และการเกษตรอย่างลงตัว นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาเสริมพลังขับเคลื่อนสู่ความมั่งคั่งอย่างยั่งยืน ควบคู่ไปกับการสร้างความมั่นคง ความสงบเรียบร้อย ให้ประชาชนพึ่งพาตนเองได้ โดยไม่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งทั้ง 4 จุด เปรียบเสมือน
เวทีแห่งการฝึกฝน ทักษะอาชีพที่หลากหลาย ครอบคลุมทั้งการทำไข่เค็ม เค้กกล้วยหอม ซาลาเปา สบู่สมุนไพร การตัดต่อภาพ/คลิป มีผู้เข้ารับการฝึกอบรมประมาณ 1,200 คน เปี่ยมด้วยความมุ่งมั่น ตั้งใจ เรียนรู้ทักษะใหม่ นำไปต่อยอดสร้างอาชีพ สร้างรายได้ เปรียบเสมือนกุญแจสำคัญสู่ความมั่งคั่งยั่งยืน ด้วยการสนับสนุนจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ร่วมเป็นพลังขับเคลื่อนนำพาพี่น้องประชาชนในกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง 2 ก้าวสู่ความสำเร็จ”

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า