กมธ.อุตสาหกรรมจี้รัฐหาความจริงสารแคดเมียมมีเท่าไรแน่ ไปอยู่ไหนบ้าง พร้อมเร่งเคลียร์กากพิษด่วน “อัครเดช” ซัดส่วนราชการอย่าโลกสวย สั่งตามกฎหมายถึงเวลาปฏิบัติไม่ได้จริงหวั่นสุดท้ายชาวบ้านรับเคราะห์ฟรี อัดที่ล่าช้าเพราะหน่วยงานรัฐบางแห่งไม่ให้ความร่วมมือ กมธ.
เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2567 นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สส.ราชบุรี พรรครวมไทยสร้างชาติ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.)การอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ถึงการตรวจพบสารแคดเมียมในพื้นที่ จ.สมุทรสาครว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเข้ามาสอบสวนให้เกิดความกระจ่างใน 2 ประเด็นคือ 1.จะจัดการกับสารแคดเมียมที่เหลืออยู่อย่างไร เพราะมีการแจ้งว่าขออนุญาตขนมา 15,000 ตัน แต่วันที่เจ้าหน้าที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมและอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาครเข้ามาชี้แจงต่อกมธ.แจ้งว่า พบมีกากแร่แคดเมียมประมาณหมื่นกว่าตัน ส่วนเมื่อวานกระทรวงอุตสาหกรรมบอกพบกากแร่ดังกล่าวแค่2,000กว่าตันทั้งในตัวอาคารและนอกอาคาร ดังนั้น เบื้องต้นต้องสรุปให้ได้ก่อนว่า ระยะเวลานี้ผ่านมา 5-6 เดือนขนมากี่ตันแน่ และยังเหลืออยู่กี่ตัน ต้องบอกตัวเลขที่แท้จริงกับประชาชนให้ได้ก่อนเพื่อให้หายสงสัย
นายอัครเดช กล่าวว่า ต้องสอบสวนให้เกิดความชัดเจนเวลานี้สารแคดเมียมกระจายไปที่ไหนบ้าง และมีบางส่วนตามกลับมาแล้วหลังมีการเข้าไปตรวจสอบพบว่ามีการย้ายไปโรงงานอื่น แล้วตามกลับมา ตรงนี้เป็นปัญหาแน่นอน เพราะไม่อย่างนั้นจะไม่ทราบว่ากระจายไปที่ไหนบ้างจะได้จัดการกับกากแร่เหล่านั้นได้ถูกต้อง ที่สำคัญต้องมีการสืบสวนสอบสวนว่ามีการนำไปหลอมหรือไม่ตรงนี้ถือเป็นเรื่องอันตรายมากเพราะ กระบวนการหลอมโลหะจะทำให้เกิดไอของสารแคดเมียมซึ่งก่อให้เกิดอันตรายต่อพี่น้องประชาชนได้
นายอัครเดช กล่าวว่า ประเด็นที่ 2 เรื่องการขนย้ายต้องไม่โลกสวยการออกคำสั่งทางปกครอง ให้ขนย้ายแล้วเสร็จภายใน7วันในทางปฏิบัติทำได้หรือไม่ สารแคดเมียมเป็นสารอันตราย การขนย้ายต้องมีการวางแผนเตรียมการอย่างดี ทราบล่าสุดพบถุงบรรจุกากแคดเมี่ยมบางถุงที่กองเก็บนอกอาคารมีการชำรุดและเกิดการรั่วออกมาของกากแคดเมี่ยมบางส่วน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่าโลกสวยต้องไปดูว่าในทางปฏิบัติจะควบคุมในการขนย้ายอย่างไรให้เกิดความปลอดภัยกับประชาชน ต้นทาง ระหว่างทางและปลายทางได้ทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่หรือยัง เพราะสารแคดเมียมอันตรายมากเป็นสารก่อมะเร็งระหว่างขนย้ายมีการฟุ้งกระจายหรือมีนำ้ฝนมาชะล้างก็ล้วนอันตราย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเข้ามาแก้ปัญหาอย่างรอบคอบรัดกุมเพื่อให้เกิดความปลอดภัยกับประชาชนมากที่สุด
ประธานกมธ.อุตสาหกรรม กล่าวย้ำว่า ประเด็นที่ 3 ต้องเร่งหาคนทำผิดมาลงโทษให้ได้ถือว่าสำคัญมาก เพราะในEIA ระบุชัดกากเเคดเมียมเหล่านี้ไม่สามารถขนย้ายได้ แต่กลับมีการขนย้ายทั้งที่กฎหมายไม่อนุญาตเรื่องนี้กมธ.จะติดตามอย่างใกล้ชิด ติดตามการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่เพื่อให้เกิดความรวดเร็ว ปลอดภัยสร้างความเข้าใจกับประชาชน
“กรรมาธิการจะตรวจสอบเรื่องนี้อย่างจริงจัง ไม่ได้ต้องการให้เกิดความตื่นตระหนก แต่ต้องการสร้างความตระหนัก ให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเข้าไปจัดการปัญหาอย่างจริงจัง ถ้าส่วนราชการบางหน่วยงานให้ความร่วมมือกับกมธ.อย่างจริงจังตั้งแต่แรกปัญหาคงจัดการได้ตั้งนานแล้ว แต่ที่ผ่านมาส่วนราชการก็เป็นอุปสรรคเสียเอง ในการสอบหาข้อเท็จจริงของกรรมาธิการอุตสาหกรรม เพิ่งมาให้ข้อมูลที่ชัดเจนเมื่อวันที่ 3 เมษายนที่ผ่านมา ซึ่งล่าช้าไปมาก ดังนั้นส่วนราชการต้องตื่นตัวในการเข้ามาแก้ไขปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อพี่น้องประชาชนให้มากกว่านี้ การที่ส่วนราชการทำงานล่าช้าทำให้ประชาชนตกใจเพราะข่าวที่ออกมาไม่ชัดเจน จึงมีคำถามจากประชาชนมากมาย”นายอัครเดชกล่าว
นายอัครเดช กล่าวว่า ขอเรียกร้องให้หน่วยงานเกี่ยวข้องออกมาชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจ ทำไมไม่ประกาศเป็นเขตภัยพิบัติ แต่ประกาศเป็นเขตควบคุม มีความแตกต่างกันอย่างไร กมธ.ไม่ได้สนใจจะประกาศแบบไหน แต่ขอให้การแก้ปัญหาที่มีผลกระทบต่อประชาชนต้องมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และคุ้มครองสิทธิของประชาชนที่ได้รับผลกระทบทั้งในปัจจุบันและอนาคต การไม่ประกาศเป็นเขตภัยพิบัติจะกระทบต่อสิทธิของประชาชนในอนาคตหรือไม่ถ้าประชาชนเกิดเจ็บป่วยขึ้นมาในภายภาคหน้า แล้วจะเรียกร้องจากใคร นี่ก็เป็นคำถามที่ประชาชนฝากถามมา
อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 17 เมษายน กมธ.ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงอีกครั้ง ช่วงนี้ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการอย่างเร่งด่วน หวังว่าจะได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่จะมาชี้แจงต่อกมธ.เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับสาธารณชนร่วมกัน และขอขอบคุณนายกรัฐมนตรี และทุกภาคส่วนที่ได้ลงไปแก้ปัญหาให้ประชาชน