กมธ.พลังงาน สภาฯ ทำหนังสือถึงกระทรวงพลังงาน เพื่อให้เร่งรัดดำเนินโครงการสร้างโรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานีเพื่อสร้างความมั่นคงด้านไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ และฝั่งอันดามัน
น.ส.วชิราภรณ์ กาญจนะ สส.สุราษฎร์ธานี พรรครวมไทยสร้างชาติ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพลังงาน สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า กมธ.ได้พิจารณาเรื่อง “การติดตามความคืบหน้าโครงการโรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี ชุดที่ 1-2” โดยเชิญ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน และผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เข้าร่วมประชุม ทราบว่า ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561-2589 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP 2018 REV1) กำหนดให้มีโครงการโรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี ชุดที่ 1-2 เพื่อเสริมความมั่นคงของระบบไฟฟ้าของภาคใต้ และสนองความต้องการไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น โดยให้มีกำลังผลิตตามสัญญา 2×700 เมกะวัตต์ โดยใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง กำหนดแผนในการจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ในปี 2570 และ 2572
ทั้งนี้ โครงการโรงไฟฟ้าดังกล่าวเป็นโครงการที่มีความจำเป็นที่ต้องเกิดขึ้นเพื่อเสริมความมั่นคงด้านไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ เดิมเมื่อหลายปีมาแล้วเคยมีแผนที่จะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่จังหวัดกระบี่ แต่ไม่สามารถดำเนินการได้ โรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานีจึงเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญในการสร้างความมั่นคงด้านไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งมีสายส่งที่สามารถเชื่อมต่อไปยังพื้นที่ฝั่งอันดามัน เพื่อรองรับการเติบโตของการท่องเที่ยว สถานที่ตั้งโครงการ ตั้งอยู่ภายในโรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี ตำบลเขาหัวควาย อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยมีความต้องการใช้พื้นที่ประมาณ 82ไร่ (รื้อถอนโรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานีเดิม) ศักยภาพของพื้นที่ เป็นพื้นที่ของโรงไฟฟ้าเดิมทำให้ช่วยลดต้นทุน และลดขั้นตอนในการจัดหาที่ดิน มีระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานที่จำเป็นคือ ติดแหล่งน้ำขนาดใหญ่ ใกล้สถานีไฟฟ้าแรงสูง
นอกจากนี้ ยังตั้งอยู่บริเวณศูนย์กลางการส่งจ่ายไฟฟ้าผ่านสายส่ง 500 KV อีกทั้งไม่อยู่ใกล้เขตชุมชนหนาแน่น ซึ่งโรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานีถือได้ว่าตั้งอยู่บริเวณศูนย์กลางของการจ่ายไฟของภาคใต้ตอนบน สามารถจ่ายไฟฟ้าเพื่อรองรับการใช้ไฟฟ้าไปยังจังหวัดฝั่งอันดามัน คือจังหวัดภูเก็ต และภาคใต้ตอนล่างคือจังหวัดสงขลา และสามารถส่งไฟฟ้าไปช่วยเสริมในพื้นที่ภาคกลางได้ด้วย
น.ส.วชิราภรณ์ กล่าวว่า ลักษณะของโครงการเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมจำนวน 2 ชุด มีกำลังผลิตตามสัญญา 2×700 เมกะวัตต์ ใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ โดยใช้น้ำมันดีเซลเป็นเชื้อเพลิงสำรองจำนวน 3 วัน และการเชื่อมโยงระบบส่งจะใช้การเชื่อมโยงกับสถานีไฟฟ้าแรงสูง 500 KV สุราษฎร์ธานี 2 โดยมีระยะห่างประมาณ 2 กิโลเมตร โครงการโรงไฟฟ้าดังกล่าว จะต้องมีการก่อสร้าง LNG Terminal ซึ่งดำเนินการโดย ปตท. และ กฟผ. สำหรับท่อส่งก๊าซธรรมชาติ จะมีระยะทางประมาณ 100 กิโลเมตร จากโรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี ดำเนินการโดย ปตท.
สำหรับ ความก้าวหน้าโครงการ กฟผ.ได้มีการศึกษาความเหมาะสม ซึ่งผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการ กฟผ. เมื่อปลายปี 2562 และได้นำเสนอเข้ากระทรวงพลังงานเมื่อต้นปี 2563 และได้ดำเนินการศึกษา EIA โดยผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) เมื่อปลายปี 2564 ตามแผนจะต้องขออนุมัติคณะรัฐมนตรีในปี 2565 ซึ่งปัจจุบันการดำเนินการล่าช้ากว่าแผนงาน
สำนักงานนโยบายและแผนพลังงานได้ติดตามเพื่อขอความเห็นจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งได้รับแจ้งว่าอยู่ระหว่างการรอผลการพิจารณาในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (PDP) ฉบับใหม่ ที่อยู่ระหว่างการปรับปรุงของกระทรวงพลังงาน หากในแผน PDP ได้กำหนดให้สร้างโรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี ก็จะได้จัดส่งความเห็นมาให้กระทรวงพลังงาน เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติต่อไ ป
“กมธ.จึงมีมติให้ส่งหนังสือถึงกระทรวงพลังงาน เพื่อให้เร่งรัดดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานีเพื่อสร้างความมั่นคงด้านไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ และพิจารณาบรรจุโรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานีในแผน PDP ฉบับปรับปรุงที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของกระทรวงพลังงาน”ประธานคณะกมธ.พลังงานกล่าว
//////