กมธ.การพลังงาน เชิญ กระทรวงพลังงาน ถกแผนอนุรักษ์พลังงาน การใช้พลังงานทดแทน และพลังงานทางเลือกของประเทศ แทนการพึ่งพาพลังงานฟอสซิลอย่างเดียว หวังตั้งเป้าสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้ประชาชนทั้งการรักษาสิ่งแวดล้อม-ความมั่นคงทางพลังงานของไทย
เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน ที่รัฐสภาฯ น.ส.วชิราภรณ์ กาญจนะ สส.สุราษฎร์ธานี พรรครวมไทยสร้างชาติ ในฐานะ ประธานคณะกรรมาธิการการพลังงาน เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมธิการการพลังงาน ครั้งที่ 6 ในประเด็นพิจารณาเรื่อง “แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (Alternative Energy Development Plan : AEDP) และแผนอนุรักษ์พลังงาน (Energy Efficiency Plan : EEP)” โดยมีตัวแทนจากกระทรวงพลังงาน ได้แก่ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานเพื่อให้ข้อมูลต่อคณะกรรมาธิการ
การประชุมดังกล่าวนี้ น.ส.วชิราภรณ์ บอกว่า ตัวแทนจากกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ได้ให้ข้อมูลภาพรวมเกี่ยวกับแผนการดำเนินการด้านการพัฒนาพลังงานทดแทน และพลังงานทางเลือก รวมถึงแผนการอนุรักษ์พลังงานของประเทศไทยในปัจจุบัน ซึ่งนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นอย่างมาก ดังนั้นที่ผ่านมากรมฯ จึงได้ดำเนินการตามแผน AEDP 2018 เพื่อเพื่มสัดส่วนการใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น โดยแบ่งกลุ่มพลังงานทดแทน และพลังงานทางเลือก เป็น 3 กลุ่มคือ กลุ่มพลังงานไฟฟ้า, กลุ่มพลังงานความร้อน และเชื้อเพลิงชีวภาพ ซึ่งสามารถดำเนินการส่งเสริมเพื่อให้เกิดการจัดหาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกได้ตามแผน
น.ส.วชิราภรณ์ กล่าวว่า ขณะเดียวกันหน่วยงานดังกล่าวยอมรับยังมีอุปสรรคในการดำเนินการ โดยเฉพาะต้นทุนราคาการผลิตที่แพงกว่าพลังงานฟอสซิล,ปัญหาความไม่เสถียรของการจัดหาพลังงาน เนื่องจากมีข้อจำกัดของธรรมชาติ ทั้งพลังงานแสงอาทิตย์ น้ำ หรือพลังงานลม เป็นต้น อีกทั้งมีขั้นตอนที่ยุ่งยากซับซ้อนในการก่อตั้งโรงงานหรือติดตั้งอุปกรณ์การจัดหาพลังงานหมุนเวียน และพลังงานทดแทน รวมถึงปัญหาเรื่ององค์ความรู้และเทคโนโลยี ซึ่งจำเป็นที่จะต้องหาแนวทางแก้ไขปัญหาต่อไป
น.ส.วชิราภรณ์ กล่าวต่อว่า การประชุมวันนี้คณะกรรมาธิการให้ความสำคัญในเรื่องการจัดหาพลังงานใหม่ๆ เพื่อนำมาใช้ทดแทนพลังงานฟอสซิลในอนาคต ทั้งในส่วนของพลังงานไฟฟ้า,พลังงานความร้อน รวมถึงเชื้อเพลิงพลังงาน นอกจากเป็นการเตรียมการเพื่อความมั่นคงทางพลังงานของประเทศแล้ว ยังมุ่งไปในเรื่องคุณภาพชีวิตของประชาชน และการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมด้วย
เธอยังบอกด้วยว่า ในที่ประชุมคณะกรรมาธิการยังได้สอบถาม และแสดงความคิดเห็น รวมไปถึงข้อห่วงใยต่างๆ อาทิ อัตราการรับซื้อไฟฟ้า จากโรงไฟฟ้าประเภทต่างๆ ของภาคประชาชน ที่ควรอยู่ในอัตราที่เหมาะสม, เรื่องความคืบหน้าเกี่ยวกับการจัดหาโซลาร์ภาคประชาชน, ประเด็นการแก้ปัญหาเกี่ยวกับการดูแลชุมชนในพื้นที่ที่มีการดำเนินการของโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนจากเชื้อเพลิงชนิดต่างๆ เช่น โรงไฟฟ้าขยะ เป็นต้น รวมถึงแนวทางการลดขั้นตอนกระบวนการทางกฎหมาย เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนสามารถดำเนินการเรื่องพลังงานทดแทนได้ง่ายขึ้น
“เรื่องของพลังงานทดแทน พลังงานหมุนเวียน เป็นนโยบายของรัฐบาลต่างๆ ที่ดำเนินการมาตลอด ซึ่งคณะกรรมาธิการการพลังงานเอง ก็เห็นถึงความสำคัญเรื่องนี้ โดยเฉพาะการนำพลังงานสะอาดมาใช้ นอกจากเป็นการรักษาสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชนแล้ว หากดำเนินการได้อย่างดี ก็ยังทำให้เกิดความมั่นคงทางพลังงานกับประเทศแทนการพึ่งพาพลังงานฟอสซิลอย่างเดียว“ น.ส.วชิราภรณ์ กล่าว
ในส่วนของแผนอนุรักษ์พลังงานของประเทศนั้น น.ส.วชิราภรณ์ กล่าวว่า คณะกรรมาธิการ ได้มีข้อเสนอแนะต่างๆ ต่อกระทรวงพลังงาน เพื่อให้กลับไปปรับปรุงแก้ไขและดำเนินการ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการบริหารจัดการด้านการอนุรักษ์พลังงานของประเทศให้ได้มากที่สุด ซึ่งข้อมูลในการประชุมวันนี้ เพื่อจะนำเสนอเป็นขั้นตอนไปยังรัฐสภา และส่งต่อไปยังรัฐบาลใช้เป็นแนวทางในการดำเนินนโยบายด้านพลังงานให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติต่อไป