Skip to content
Home » “อนุชา บูรพชัยศรี” เสนอให้ตั้งกมธ.วิสามัญฯแก้ปัญหาหนี้สินครัวเรือน

“อนุชา บูรพชัยศรี” เสนอให้ตั้งกมธ.วิสามัญฯแก้ปัญหาหนี้สินครัวเรือน

อนุชา บูรพชัยศรี” สส.รวมไทยสร้างชาติ เสนอญัตติให้สภาฯตั้งกมธ.วิสามัญฯแก้ไขปัญหาหนี้สินครัวเรือน เพื่อหาทางออกร่วมกันลดความเดือดร้อนของประชาชน

เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม ที่รัฐสภา นายอนุชา บูรพชัยศรี สส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) อภิปรายเสนอต่อสภาฯ ให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการแก้ไขปัญหาหนี้สินครัวเรือน ว่า เนื่องจากในปัจจุบันประชาชนมีรายได้ อาจจะไม่เพียงพอกับรายจ่ายและมีหนี้ ในปัจจุบันหนี้ครัวเรือนของไทยมีการขยายตัว คาดการณ์ว่ายอดหนี้อาจจะมีการพุ่งสูงขึ้นในปี 2566 -2567 ยังมีปัจจัยอื่นอีก เช่น สงครามที่เกิดขึ้นในหลายภูมิภาค การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางจากประเทศต่างๆ รวมถึงภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้น ทำให้ประชาชนมีค่าครองชีพที่มีแนวโน้มสูงขึ้นกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ของประชาชน จึงมีความจำเป็นเร่งด่วนจะต้องตั้งคณะทำงานเพื่อแก้ไขปัญหา

นายอนุชา กล่าวว่า ในปัจจุบันหนี้ครัวเรือนส่งผลให้เศรษฐกิจภายในประเทศไม่เติบโตเท่าที่ควร เนื่องจากครัวเรือนต้องนำรายได้ไปชำระหนี้ ทำให้จำกัดกำลังซื้อของผู้บริโภคการจับจ่ายใช้สอยไม่เป็นไปตามที่คาดเอาไว้ อาจจะส่งผลกระทบต่อระบบการเงินการคลังของประเทศ ในปัจจุบันหนี้ครัวเรือนของไทยมีการเจริญเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วและก็สูงเป็นอันดับต้นๆ เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น

“หนี้ครัวเรือนในปัจจุบันของไทยติดอันดับท็อปทเวนตี้ของโลกในปี 2023 ไทยอยู่อันดับที่ 8 ของโลก เป็นรองแค่เพียงสวิตเซอร์แลนด์ออสเตรเลีย แคนาดา เกาหลีใต้ ฮ่องกง นิวซีแลนด์ และเนเธอร์แลนด์ ในส่วนของเอเชียเราอยู่ในอันดับ 3 รองจาก เกาหลีใต้ ฮ่องกง และเข้ามาประเทศไทย ฉะนั้นสถานการณ์หนี้ครัวเรือนของไทยน่ากังวลเนื่องจาก หนี้ครัวเรือนส่วนใหญ่ของไทยเป็นสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ กู้มาแล้วประชาชนส่วนใหญ่ไม่ได้นำไปใช้ให้เกิดดอก ส่วนใหญ่เป็นหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคที่ใช้แล้วหมดไปไม่ช่วยสร้างรายได้ให้เพิ่มขึ้น แต่ดอกเบี้ยค่อนข้างสูงทำให้มีภาระ ผ่อนต่อเดือนสูง จะแตกต่างจากประเทศอื่นๆ ที่พัฒนาแล้ว แม้จะมีสัดส่วนยอดหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีที่สูง แต่ส่วนใหญ่เป็นหนี้สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยสา มารถจะไปสร้างรายได้ หรือสร้างความมั่นคงได้ โดยการนำไปขายในอนาคต หรือการนำไปให้เช่า ”นายอนุชากล่าว

นายอนุชา กล่าวว่า ประการที่สอง ปัญหาก็คือเรื่องของหนี้ครัวเรือนส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มผู้กู้ที่มีปัญหาด้านความในการชำระหนี้ ปัจจุบันคนไทยกว่า 6 ล้านคน กำลังมีหนี้เสียหรือว่าเอ็นพีแอลส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อส่วนบุคคล โดยเฉพาะกลุ่มวัยเริ่มทำงานตั้งแต่อายุประมาณ 20 -35 ปี มีสัดส่วนการใช้สินเชื่อที่อาจจะไม่ก่อให้เกิดรายได้เป็นสัดส่วนที่สูงที่สุด และมีสัดส่วนผู้กู้ที่มีหนี้เสียเสียสูงที่สุดถึงเกือบ 25 ส่วนกลุ่มเกษตรกรหรือกลุ่มผู้มีรายได้น้อยจะเป็นกลุ่มที่มีอัตราเสี่ยงพอสมควรดังนั้นเหตุผลทั้งสองประการนี้ต้องมีการแก้ปัญหา เพื่อไม่ให้ปัญหาลุกลามไปสู่ปัญหาอื่นๆ ทั้งปัญหาสุขภาพจิตของลูกหนี้ ปัญหาสังคมที่อาจจะเกิดจากถูกกดดันจากภาระหนี้ต่างๆ อาจจะก่อปัญหาอาชญากรรมได้ในอนาคต ทำให้คนในสังคมอาจจะไม่ปลอดภัยตามไปด้วย

อย่างไรก็ตาม ปัญหานี้จะยิ่งรุนแรงขึ้นเมื่อไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพจะต้องสูงขึ้น สวนทางกับรายได้ของครัวเรือนที่ต้องลดลง ข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการคลังในปัจจุบันะบว่า หนี้สินของประเทศไทยมีมูลค่าประมาณเกือบ 16 ล้านล้านบาท ถ้าคิดเป็นสัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อจีดีพีจะอยู่ที่ 90.6% และหากพิจารณาการก่อหนี้ครัวเรือนรายวัตถุประสงค์จะพบว่าครัวเรือนมีการก่อหนี้เพื่ออสังหาริมทรัพย์และอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลที่เพิ่มขึ้นส่วนความสามารถในการชำระหนี้ครัวเรือนภาพรวมกลดลง โดยหนี้เอ็นพีแอลในปัจจุบันมีมูลค่าถึง 1.44 แสนล้านบาท หรือมีสัดส่วนเอ็นพีแอลต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ 2.68%

นายอนุชา กล่าวด้วยว่า มีการกู้ไปซื้ออสังหาริมทรัพย์อยู่ที่ประมาณ 33.5% ไปซื้อยานยนต์อยู่ที่ 11.3% ไปประกอบธุรกิจ 18.2% เป็นสินเชื่อบุคคล 19% เป็นสินเชื่อบุคคลที่ไม่มีหลักประกัน 4.9% เป็นสินเชื่อบัตรเครดิต 2.8% แล้วก็เป็นสินเชื่ออื่นๆ อีกประมาณ 10% มีข้อมูลธนาคารแห่งประเทศไทยพบว่า หนี้สินของกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) จำนวน 483,000 ล้านบาท จากการเคหะแห่งชาติอีกประมาณ 11,000 ล้านบาท จากพิโกไฟแนนซ์ อีก 6,000 ล้าน สหกรณ์อื่นๆที่นอกเหนือจากสหกรณ์ออมทรัพย์อีกประมาณ 265,000 ล้านบาท

นายอนุชา กล่าวว่า รัฐบาลชุดที่แล้วได้ดำเนินการแปลงหนี้ออกเป็น 8 กลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นหนี้กยศ.มีการออกกฎหมายไม่ต้องมีผู้ค้ำประกัน มีการลดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ มีการไกล่เกลี่ย การปรับโครงสร้างหนี้ของประเทศให้เป็นวาระของชาติ มีการแก้ไขปัญหาหนี้เช่าซื้อรถยนต์และจักรยานยนต์ หนี้ข้าราชการโดยเฉพาะข้าราชการครู ตำรวจมีการปรับลดและทบทวนโครงสร้างและเพดานอัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมการออก มาตรการคุ้มครองสิทธิของลูกหนี้ มีการแก้ไขปัญหาหนี้บัตรเครดิต และสินเชื่อบุคคล รวมถึงการแก้ไขปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของประชาชนรายย่อย รวมถึงเอสเอ็มอีและสุดท้ายคือการปรับปรุงขั้นตอนในกระบวนการยุติธรรมเพื่อให้เอื้อแก่การแก้ไขปัญหาหนี้

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่รัฐบาลปัจจุบันในภายใต้ของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี มีนโยบายเร่งด่วน เช่น การพักหนี้เกษตรกร ในส่วนของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) หรือธนาคารออมสินเข้ามาดูแล นอกจากนั้นเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้กับประชาชน การตรึงราคาก๊าซหุงต้มต่างๆ มาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้า และจะมีมาตรการช่วยเหลืออื่นๆอีกมากมาย

นอกจากนั้น ประชาชนต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องของการจัดการหนี้สิน การสร้างความตระหนักรู้ทางการเงิน สิ่งที่อภิปรายมาทั้งหมดนี้ต้องบอกว่ามีหลายส่วนที่ดำเนินการไปแล้ว ในรัฐบาลชุดที่แล้ว รัฐบาลชุดปัจจุบันก็กำลังออกมาตรการต่างๆ เพื่อมาช่วยเหลือหนี้สินของพี่น้องประชาชน แต่ก็ต้องมีการพิจารณาข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน การที่จะมีการจัดตั้งคณะกรรมาธิการเพื่อศึกษาแก้ไขปัญหาที่สินจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ แต่ในปัจจุบันมีการแต่งตั้งคณะกรรมาธิการแก้ไขปัญหาหนี้สินแห่งชาติ ตนยินดีหากจะนำญัตตินี้เข้าไปให้ทางด้านคณะกรรมาธิการแก้ไขปัญหาหนี้สินแห่งชาติได้พิจารณา เพื่อลดค่าใช้จ่ายของสภา และหวังว่าญัตติของตนจะเป็นการเริ่มต้นในการที่ทำให้สภาแห่งนี้ได้มีโอกาสได้นำเสนอ ได้พิจารณา ได้ศึกษาสิ่งที่จะส่งให้กับทางรัฐบาลเพื่อเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาหนี้สินครัวเรือนต่อไป