Skip to content
Home » รมว.พลังงาน เข้าทำงานวันแรกที่บ้านพิบูลธรรมเชิงสะพานกษัตริย์ศึก

รมว.พลังงาน เข้าทำงานวันแรกที่บ้านพิบูลธรรมเชิงสะพานกษัตริย์ศึก

รมว.พลังงานเข้าทำงานวันแรกใช้บ้านพิบูลธรรมเชิงสะพานกษัตริย์ศึก เป็นสถานที่ทำงาน ย้ำกับข้าราชการระดับสูงกระทรวงพลังงานมีอะไรให้มาหารือได้ตลอดเวลาไม่ต้องเกรงใจ ให้ร่วมมือกันทำงานเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน

เมื่อวันที่ 13 กันยายน เวลา 14.59 น. นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน ได้เดินทางเข้าทำงานในตำแหน่ง รมว.พลังงาน โดยใช้บ้านพิบูลธรรม เลขที่ 17 เชิงสะพานกษัตริย์ศึก ถนนพระรามที่ 1 แขวงรองเมือง เขตปทุมวันเป็นสถานที่ทำงาน โดยมี นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน นำข้าราชการระดับสูง และข้าราชการกระทรวงพลังงานรอให้การต้อนรับ รวมถึงผู้สนับสนุนพรรครวมไทยสร้างชาติจำนวนหนึ่ง นำโดย นางกัลยาณี จูปรางค์ หรือ ป้าอยุธยา แต่งชุดไทยมาร่วมพิธีในครั้งนี้ด้วย

ทั้งนี้ นายพีระพันธุ์ ได้เข้าสักการะพระพุทธรูปสิ่งศักดิ์สิทธิ พระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 พร้อมวางพวงมาลัยทำความเคารพภาพถ่ายของ ม.ร.ว.ปุ้ม มาลากุล อดีตเจ้าของบ้านพิบูลธรรม และสักการะศาลพ่อปู่สิงห์ สุรชัยยะเทวะ ด้านหน้าอาคาร ก่อนที่จะเข้าห้องทำงานซึ่งตั้งอยู่ภายในชั้นสองของอาคาร 1 พร้อมพบปะพูดคุยมอบนโยบายกับผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงพลังงาน โดยให้แนวทางในการทำงานว่า ต้องทำงานให้ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุดมีปัญหาอะไรให้มาปรึกษาหารือกับตนได้โดยตรง ไม่ต้องเกรงใจ เพราะตนเองเป็นคนที่ง่าย ๆ ไม่ต้องมีพิธีรีตรอง

สำหรับ “บ้านพิบูลธรรม” เดิมชื่อว่า “บ้านนนที” ก่อสร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 ประมาณปี พ.ศ. 2440 ในเนื้อที่ประมาณ 4-5 ไร่ ต่อมาเมื่อเกิดทางรถไฟสายเหนือขึ้นที่สถานีหัวลำโพง ที่ดินบางส่วนของบ้านจึงต้องถูกเวนคืนให้แก่ทางราชการเพื่อสร้างทางรถไฟ ทำให้เนื้อที่ของบ้านถูกแยกออกเป็นสองส่วน มีทางรถไฟผ่าเกือบกลางเนื้อที่ โดยด้านหนึ่งติดริมคลองผดุงกรุงเกษมอีกด้านหนึ่งติดทางรถไฟสายเหนือ และวัดบรมนิวาสราชวิหาร ด้านหน้าติดถนนพระราม 1 และด้านท้ายติดห้องแถวตลาดโบ้เบ้

บ้านนนที เดิมมีหลังเดียวคือ ตึกกลาง (หรืออาคาร 1 ในปัจจุบัน) ม.ร.ว.ปุ้ม มาลากุล ได้รับพระราชทานทั้งที่ดินและบ้านจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะดำรงตำแหน่งเป็น พระยาอนุรักษราชมณเฑียร ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 ประมาณปี พ.ศ. 2456 ม.ร.ว.ปุ้ม มาลากุล ได้ดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงวัง มียศเป็นเจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี หลังจากรับราชการในตำแหน่งนี้มาได้ประมาณ 8-10 ปี พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานเงินให้สร้างตึกอีกหลังหนึ่งพร้อมกับบริเวณและตกแต่งอาคารหลังเดิมใหม่ เพื่อที่จะเสด็จมาประทับชั่วคราว โดยในการก่อสร้างออกแบบอาคารทำโดยวิศวกรและสถาปนิกชาวอิตาเลียนทั้งหมด และตกแต่งแกะลวดลายไม้ต่างๆ โดยนายช่างเป็นชาวเซี่ยงที่ร่วมกับนายช่างไทย และมีศิลปินชาวอิตาเลียนเขียนภาพเพดานและภาพฝาผนังภายในห้องต่าง ๆ

ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 บ้านนนทีถูกระเบิดที่ฝ่ายสัมพันธมิตรนำมาทิ้งโจมตีสถานีรถไฟหัวลำโพง แต่ลูกระเบิดไม่ถูกเป้าหมายกลับมาลงที่บ้านนนทีหลายลูก ทำให้ได้รับความเสียหายอย่างหนัก เกินกว่าที่เจ้าของบ้านจะซ่อมแซมให้คืนสภาพเดิมได้ ทางเจ้าของบ้านคือ หม่อมหลวงปีกทิพย์ มาลากุล จึงได้เสนอขายให้แก่ทางรัฐบาลติดต่อกันมาหลายปี จนถึงปี พ.ศ.2498 รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้อนุมัติให้โรงงานยาสูบซื้อไว้เป็นสถานที่ราชการ และเปลี่ยนชื่อจาก “บ้านนนที” เป็น “บ้านพิบูลธรรม” และถูกใช้เป็นบ้านรับรองของรัฐบาล จนกระทั่งในวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2502 การพลังงานแห่งชาติ (หรือกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน ที่ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ) ใช้มาจนถึงปัจจุบัน