“ดร.ปรเมษฐ์ จินา” สส.สุราษฎร์ธานี รวมไทยสร้างชาติ แนะ กกพ. กำหนดให้พลังงานทางเลือกเป็นนโยบายระดับชาติ โดยใช้หน่วยงานองค์กรท้องถิ่นเป็นตัวอย่างสู่การขยายผล ทั้งพลังงานแสงอาทิตย์ หรือ ชีวมวล เชื่อนอกจากจะแก้ปัญหาพลังงานราคาแพงแล้วยังช่วยดันราคาพืชผลเกษตร ที่เป็นวัตถุดิบสร้างไฟฟ้าได้อีกด้วย
เมื่อช่วงค่ำวันที่ 30 สิงหาคม ดร.ปรเมษฐ์ จินา สส.สุราษฎร์ธานี พรรครวมไทยสร้างชาติ กล่าวอภิปรายในวาระ สภาผู้แทนราษฎรรับทราบรายงานประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน และสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ระบุว่า จากการอ่านรายงานดังกล่าว เห็นว่าส่วนใหญ่เป็นไปตามระเบียบว่าด้วยเรื่องการตรวจสอบด้านการเงิน ทั้งเรื่องการแสดงฐานะทางการเงิน,การแสดงงบดำเนินการ และงบกระแสเงินสด
โดยส่วนที่น่าสังเกตคือ เรื่องการจ้างที่ปรึกษา ตามที่ สส.หลายท่านได้อภิปรายว่าอาจจะดูว่าสูงเกินไป จึงคิดว่าคณะกรรมกากำกับกิจการพลังงานจะได้นำไปถอดบทเรียนเพื่อพิจารณาส่วนของค่าจ้างที่ปรึกษานี้ให้ลดลง
ส่วนของบทบาทหน้าที่ ที่ได้มีการกล่าวถึงการดูแลเรื่องนโยบาย และการกำหนดโครงสร้างราคาพลังงาน เห็นว่า กกพ.ต้องเป็นที่พึ่งให้กับประชาชน ขณะเดียวกันขอเสนอแนะว่าควรมีกำหนดให้การใช้พลังงานทางเลือกเป็นนโยบายระดับชาติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ โซล่ารูฟ ท็อป หรือ ไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ เพราะหากปล่อยให้เป็นไปตามกลไกธรรมชาติอาจจะทำให้เกิดขึ้นได้ช้า
ขณะที่บางประเทศที่เจริญแล้ว รัฐบาลได้ให้การสนับสนุนและอุดหนุนกลุ่มนี้ เช่น ให้เงินอุดหนุน โดยเฉพาะกลุ่มโรงเรียน สถานที่ราชการต่างๆ และเห็นว่ากลุ่มท้องถิ่น เช่นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ น่าจะเป็นคำตอบในเรื่องนี้ ที่ควรสนับสนุนให้มีการติดตั้งฟรี เพื่อให้เป็นตัวอย่างกับหน่วยงานอื่นๆ เพื่อนำไปสู่การตัดสินใจในการขยายผลต่อไปได้
ดร.ปรเมษฐ์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังมีเรื่องการใช้งบของกองทุนอนุรักษ์พลังงาน และกองทุนพลังงานทดแทน ที่เห็นว่าสามารถจะนำมาบูรณาการร่วมกันได้ โดยมองเป้าหมายถึงประชาชนเป็นหลัก และไม่ควรมีการแบ่งแยกความเป็นเจ้าของระหว่างกิจการกำกับพลังงาน กับกองทุนพลังงานทดแทน แต่ควรมองว่าประชาชนจะได้ประโยชน์อะไรบ้าง เพื่อสนันสนุนให้เกิดการใช้พลังงานทางเลือกมากขึ้น
อีกทั้งควรสนับสนุนให้เกษตรกรสวนผลไม้แปลงใหญ่ เช่น สวนทุเรียนในภาคใต้ หันมาใช้วิธีการผันน้ำจากแหล่งกำเนิดธรรมชาติเข้าสู่สวนด้วยพลังงานไฟฟ้าที่ได้จากแสงอาทิตย์ โดยรัฐลงทุนในการผันน้ำจากท่อหลัก และให้เกษตรกรลงทุนในส่วนของท่อที่จะผันน้ำเข้าสู่สวนของตัวเอง ซึ่งการดำเนินการรูปแบบนี้ ยังสามารถนำไปใช้ในพื้นที่ที่เกิดภัยแล้งด้วยการสำรองน้ำโดยใช้พลังงานไฟฟ้าแสงอาทิตย์ ซึ่งจะทำให้เกิดประโยชน์ได้อีกด้วย
สำหรับพลังงานทางเลือกอื่นๆ เห็นว่าควรมีการสนับสนุนให้มากขึ้น ไฟฟ้าชีวมวล โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีวัตถุดิบซึ่งสามารถนำมาเผาเป็นพลังงานความร้อนเพื่อผลิตไฟฟ้าได้ เช่น ไม้ยางพาราที่ไม่ได้ขนาด รากไม้ หรือวัตถุดิบอื่นที่สามารถนำมาใช้ได้ ก็ควรสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง หรือแม้แต่การใช้น้ำมันปาล์ม ซึ่งจะเหมือนกับการใช้ดีเซล โดยพิจารณาจากต้นทุนว่าสามารถดำเนินการได้หรือไม่ แม้จะมีต้นทุนที่เท่ากัน แต่อาจจะได้ประโยชน์มากกว่า โดยเฉพาะการได้ช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนปาล์ม ทำให้ราคาปาล์มสูงขึ้นมาได้ รวมไปถึงยางพารา น้ำยาง พารา หรือว่า ยางแผ่น ที่อาจจะลองเผา เพื่อผลิตไฟฟ้า จากนั้นเปรียบเทียบต้นทุน
“หากสามารถทำได้ก็จะได้ประโยชน์หลายส่วน ทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียนและประชาชน ชาวบ้านเองก็ได้ประโยชน์อย่างเต็มที่อีกด้วย” ดร.ปรเมษฐ์ กล่าว