“อนุชา บูรพชัยศรี” ชื่นชมรัฐบาลดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์ชาติทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีหลายด้าน ย้ำ 5 ปีที่ผ่านมาเดินมาถูกทางเห็นการพัฒนาสู่ความยั่งยืน
.
เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม ที่รัฐสภา นายอนุชา บูรพชัยศรี สส.แบบบัญชีรายชื่อพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) อภิปรายในสภาผู้แทนราษฎรถึงรายงานสรุปผลการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ ประจำปี 2565 ที่มีการเสนอต่อสภาฯ ว่า ยุทธศาสตร์ชาติในความเป็นสากลของทุกประเทศควรจะมีวิสัยทัศน์ มีวิชชั่น ไม่ว่าจะประเทศไหน หรือแม้แต่ประเทศเพื่อนบ้านของไทยก็มีเช่นกัน ไทยเองก็มียุทธศาสตร์ที่เรียกว่า ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี นั่นคือตั้งแต่ปี 2561 -2580 ที่อาจจะทำให้เข้าใจผิดได้ว่าเป็นการผูกมัดหรือไม่จากผู้ที่คิดไว้จะไปคิดหรือฝันถึงอนาคตได้อย่างไร เพราะโลกมีการเปลี่ยนแปลงไปด้วยความรวดเร็วตลอดเวลา
.
ทั้งนี้ ยุทธศาสตร์ชาติที่คิดขึ้นมานี้เป็นเพียงกรอบการทำงานเท่านั้น ในอดีตประเทศไทยไม่เคยมียุทธศาสตร์ชาติ มีเพียงแค่แผนระดับที่สอง ที่เรียกว่า แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับต่างๆ จนปัจจุบันอยู่ที่ฉบับที่ 13 แล้ว หมุดหมายต่างๆ ก็ว่ากันไป แต่ยังไม่เห็นภาพชัด ดังนั้น จึงเห็นแต่ระดับที่ 1 เป็นยุทธศาสตร์ชาติวางไว้ถึงปี 2580 ในระดับที่ 2 ก็จะมีในเรื่องที่เกี่ยวข้องทางด้านแผนแม่บท ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติต่าง ๆ ในแต่ละเรื่อง
.
สำหรับ การอภิปรายที่ผ่านมาใช้เวลา 6-7 ชั่วโมงในการพูดแผนการปฏิรูปประเทศ แต่นั่นเป็นเพียงแค่ 5 ปีเท่านั้น เป็นห้วงแรกเหมือนการตั้งไข่ ว่าจะเริ่มอย่างไรในการปรับปรุง เปลี่ยนแปลงระบบของประเทศไทยก่อนที่จะมาถึงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และจะมีนโยบาย แผน ระดับชาติ ว่าด้วยความมั่นคง อื่นๆ อีก จะเห็นว่าในส่วนสำคัญต่างๆ เหล่านี้ อยู่ในกรอบของยุทธศาสตร์ชาติอย่างน้อย ทำให้เห็นภาพชัดว่า ทุกคนจะต้องดำเนินการ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน ก็จะใช้เป็นเข็มทิศนำทางว่าประเทศจะไปในทิศทางไหน
.
สส.พรรครวมไทยสร้างชาติ อภิปรายว่า หลังจากนั้นมีแผนปฏิบัติการในระดับที่ 3 เป็นแผนปฏิบัติการด้านต่างๆ โดยเฉพาะแผน ปฏิบัติการราชการราย 5 ปี ดังนั้นในส่วนของยุทธศาสตร์ชาติเป็นการผ่านช่วงแรกเท่านั้น ฉบับแรกที่ใช้คือช่วง 2561-2565 ที่ผ่านมา เป็นช่วง 5 ปี และหลังจากนี้ไปจะเป็นช่วงอีก 5 ปี คือจากนี้จนถึง 2570 ในช่วงของโควิด ได้เกิดสิ่งที่ไม่เคยเห็นมาก่อน ดังนั้นจึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ชาติตามด้วย เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในแต่ละช่วง โดยเฉพาะการที่มีการพูดถึงเรื่องการล้มแล้วลุกให้ไว การที่จะดูว่าควรปรับตัวอย่างไรเมือเกิดเหตุโควิด หรือที่เรียกกันว่านิว นอมอลล์ นั่นคือสามารถที่จะปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ชาติได้ เท่าที่จำได้มีการปรับเปลี่ยนมา 2 – 3 ครั้ง ในช่วงระยะเวลา 5 ปีที่ผ่าน
.
“ประเทศในอนาคตในปี 2580 ไทยจะต้องเป็นประเทศที่มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน จะต้องเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญา และเศรษฐกิจพอเพียง ตอนนี้ทั่วโลกให้การยอมรับในเรื่องของ sufficiency Economy หรือ เศรษฐกิจพอเพียง และเป้าหมายหลังจากที่มี วิสัยทัศน์ก็คือ ประเทศชาติ มั่นคง ประชาชน มีความสุข เศรษฐกิจ พัฒนาอย่างต่อเนื่อง สังคมเป็นธรรม ฐานทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน ด้วยการยกระดับศักยภาพของประเทศในหลากหลายมิติ พัฒนาในทุกมิติ ในทุกช่วงวัย ให้เป็น คนดี คนเก่ง และมีคุณภาพสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม สร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และมีภาครัฐของประชาชนเพื่อประชาชน และ ประโยชน์ส่วนร่วม นั่นคือสิ่งที่มีวิสัยทัศน์และเป้าหมาย”นายอนุชากล่าว
.
นายอนุชา กล่าวย้ำว่า เพื่อให้ไปถึงเป้าหมาย ได้มีการวางยุทธศาสตร์ทั้ง 6 ด้าน นั่นคือ การสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เรื่องของการพัฒนาเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ การปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ การสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม และสุดท้ายเรื่องของความมั่นคง จะเห็นว่า ทั้ง 6 ด้าน เป็นสิ่งที่ปัจจุบันมีความสำคัญ และในอนาคตในปี 2580 ตนมั่นใจว่าทั้ง 6 ด้านจะยังมีความสำคัญเพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่าเริ่มเห็นเข็มทิศอย่างชัดเจนแล้ว ว่าจะเดินหน้าอย่างไร ทั้งในส่วนของ ภาครัฐ รวมถึงภาคเอกชนด้วย
.
นายอนุชา กล่าวว่า หากลงมาที่รายละเอียด ด้านความมั่นคงเป็น เรื่องการจัดสภาวะแวดล้อมของประเทศต่างๆ ให้เกิดความสงบ เรียบร้อย สร้างขีดความสามารถ มีหลายส่วน มีเรื่องของ ไอเอ็มดี ที่ออกมา เราก็ดีขึ้นเรื่อยๆ เป็นการยกระดับศักยภาพของประเทศไทย ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ เป็นสิ่งที่เราต้องพัฒนาบุคลากรของเรา ต่อไปคือเรื่องการดูแลการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือที่เรียกว่าการประชุม Cop ต่างๆ ในระดับนานาชาติ ที่มีการพูดถึง เรื่องของการปล่อย ก๊าซ Emission ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับก๊าซเรือนกระจก หรือ คาร์บอน รวมทั้งเรื่องการปรับสมดุลการพัฒนา ระบบการ บริหารจัดการภาครัฐ สุดท้ายคือเรื่องการสร้าง โอกาสและความเสมอภาคทางสังคม เรื่อง การลดความเหลื่อมล้ำต่างๆ ในทุกมิติ การกระจายความเจริญ ทางเศรษฐกิจ และสังคม และเพิ่มโอกาสให้ทุกภาคส่วนที่มาเป็นกำลังการพัฒนาประเทศในทุกระดับ
.
นายอนุชา กล่าวย้ำว่า ทั้งหมดเปรียบเสมือนเข็มทิศในแต่ละด้านของการพัฒนา ส่วนรายละเอียดที่ทางคณะกรรมการจะดำเนินการ ก็คือการใช้ PDCA – Plan,Do,Check,Action วางแผน ปฏิบัติ ตรวจสอบ กลับไป ปรับปรุงเป็นไซเคิลแบบนี้ ดังนั้นการมียุทศาสตร์ชาติไม่ได้เป็นการล็อค หรือผูกมัด แต่เป็นเข็มทิศ ที่อย่างน้อยจะทำให้มีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน และ 5 ปีที่ผ่านมาเรามาถูกทาง เพราะเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน จากรายงานการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่เรียกว่า SDG Index มีเครือข่ายวิชาการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่เรียก Sustainable Development Solution Network เผยแพร่รายงานการพัฒนาที่ยั่งยืนระบุว่าประเทศไทยทำได้ดีมาก ตอนนี้ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 43 ของโลก และอยู่ในอันดับที่ 3 ในเอเซียรองจากญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ และเป็นอันดับที่ 1 ของอาเซียน 5 ปีติดต่อกัน
.
“การที่เราจะต้องเดินหน้าไปเพื่อการพัฒนาประเทศ โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง รัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เน้นเรื่องการ พัฒนาอย่างสมดุลเหมาะสม และมุ่งหวังว่าการพัฒนาที่ยั่งยืนแบบนี้จะได้ร่วมกับทุกภาคส่วนขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติให้สอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกมิติ ตามที่ผมได้กล่าวไปแล้ว เพื่อให้ดำเนินนโยบายทุกระดับตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ และนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน อย่างแท้จริง” นายอนุชา กล่าว