Skip to content
Home » “ลุงตู่” ลงพื้นที่ตรวจติดตามสถานการณ์สาธารณภัย จ.พิจิตร ในฐานะนายกรัฐมนตรี

“ลุงตู่” ลงพื้นที่ตรวจติดตามสถานการณ์สาธารณภัย จ.พิจิตร ในฐานะนายกรัฐมนตรี

“ลุงตู่” ลงพื้นที่ตรวจติดตามสถานการณ์สาธารณภัยที่ จ.พิจิตรในฐานะนายกรัฐมนตรี โดยได้กำชับให้ทุกภาคส่วนเร่งสำรวจความเสียหาย เพื่อช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนประชาชนอย่างเร่งด่วน พร้อมให้กำลังใจครอบครัวผู้สูญเสีย และย้ำถอดบทเรียนเตรียมรับมือภัยพิบัติทุกประเภท
.
พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมด้วย พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายธนกร วังบุญคงชนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เดินทางไปตรวจติดตามสถานการณ์สาธารณภัย (วาตภัย) ณ โรงเรียนวัดเนินปอ อำเภอสามง่าม จังหวัดพิจิตร พร้อมตรวจเยี่ยมบริเวณโดมของโรงเรียนที่ได้รับความเสียหาย พบปะให้กำลังใจประชาชนที่ได้รับผลกระทบ และความเดือดร้อนจากสถานการณ์วาตภัย โดยนายกรัฐมนตรีขอให้ประชาชนดูแลรักษาจิตใจให้สงบ ปรึกษาเจ้าหน้าที่ ดูแลซึ่งกันและกัน ขอให้ดำรงชีวิตอยู่ให้ได้และมีกำลังใจที่ดี

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีสอบถามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นด้วยความห่วงใย และกล่าวในนามของรัฐบาลขอแสดงความเสียใจกับผู้เสียชีวิตและครอบครัว ย้ำไม่มีใครอยากให้เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้น ถือว่าเป็นสิ่งที่ต้องนำมาทบทวนว่าจะดำเนินการอย่างไรให้เกิดความปลอดภัยมากที่สุด นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า ด้วยความเร็วลม 180 กิโลเมตรต่อชั่วโมงของพายุ จึงมีผลต่อโครงสร้างของอาคาร สิ่งเหล่านี้ต้องเป็นบทเรียนให้กับทุกหน่วยงาน ทุกพื้นที่สำรวจความเข้มแข็งของสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ ให้ครบถ้วน กำหนดพื้นที่ความเสี่ยงที่อาจจะมีปัญหาในอนาคต รวมทั้งวิธีการจัดการกับเหตุการณ์รูปแบบเดียวกันนี้ในอนาคต คาดหวังเห็นการอำนวยการ การเตรียมพร้อมของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเมื่อได้รับการแจ้งเตือนจากกรมอุตุนิยมวิทยา หรือหน่วยงานต่าง ๆ ต้องเตรียมพร้อม มีคณะทำงานรับมือก่อนเกิดเหตุ ประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องทันทีผ่านช่องทางการสื่อสารที่สามารถทำได้ เช่น หอกระจายข่าวชุมชน ช่องทางออนไลน์ต่าง ๆ แนะนำแนวทางการปฎิบัติตัวและการรับมือ สิ่งสำคัญที่สุดคือความพร้อมของศูนย์ฯ ต้องมีแผนมีขั้นตอนในการรับมือสาธารณภัยที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เช่น น้ำท่วม ฝนแล้ง วาตภัยเป็นต้น ต้องมีแผนรองรับไว้ทั้งหมด แบ่งเป็นระดับการบริหารจัดการ ผู้รับผิดชอบและแนวทางการรับมือ การติดต่อสื่อสารและการกระจายข่าวสารสู่ประชาชน

นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงการให้ความช่วยเหลือที่จะต้องเร่งดำเนินการโดยเร็วที่สุด การซ่อมแซมอาคาร บ้านเรือน ระดมสรรพกำลังพลเรือน ตำรวจ ทหาร ประชาชนในพื้นที่ช่วยกันซ่อมแซมฟื้นฟูเพื่อให้อยู่อาศัยได้ รวมทั้งการจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือฯ ต้องดำเนินการต่อเนื่องจนกว่าเหตุการณ์จะกลับสู่สภาพปกติ ต้องติดตามขั้นตอนการช่วยเหลือจนกว่าสถานการณ์จะเรียบร้อย พร้อมกันนี้นายกรัฐมนตรียังได้เน้นย้ำให้ทุกคนไม่ประมาท เตรียมพร้อมรับมือ มีคณะทำงานติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด สิ่งสำคัญที่สุดหลังจากนี้คือ after action review การถอดบทเรียน ทบทวน ตั้งสมมุติฐานภัยพิบัติทุกประเภท มีแนวทางการปฏิบัติทุกระดับ ตั้งแต่ระดับ 1-2-3 การรับมือ การให้ความช่วยเหลือ มีการซักซ้อมเตรียมรับเหตุการณ์เพื่อบรรเทาสาธารณภัยในทุก ๆ เรื่องครอบคลุมทุกมิติ ในส่วนของการดำเนินการด้านงบประมาณ และการให้ความช่วยเหลือต่าง ๆ หากได้รับแล้วต้องรีบดำเนินการโดยทันทีตามระเบียบของทางราชการอย่างถูกต้องและเหมาะสม

นายกรัฐมนตรีกำชับให้หน่วยงานในพื้นที่ต่าง ๆ สำรวจอาคารในลักษณะเดียวกัน โครงสร้าง ความแข็งแรง ประเมินความเสี่ยงทั้งในพื้นที่จังหวัดพิจิตรและทุกพื้นที่ทั่วประเทศเพื่อลดความสูญเสียและกระชับเวลาในการบริหารจัดการ และให้ความช่วยเหลือเข้าถึงประชาชนโดยเร็วที่สุด รวมทั้งการดูแลด้านสุขภาพจิต ต้องติดตามประเมินผลกระทบที่เกิดขึ้นกับผู้ประสบเหตุและครอบครัว ดูแลเยียวยาด้านจิตใจ นอกจากนี้ ยังได้เน้นย้ำความรักความสามัคคีของคนไทยทุกคนเพื่อผ่านอุปสรรคต่าง ๆ ไปด้วยกัน

ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีกำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ทั้งฝ่ายพลเรือน ทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง ผู้นำท้องถิ่น เร่งประสานความร่วมมือ สำรวจความเสียหายและให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนตามระเบียบของทางราชการอย่างเร่งด่วน พร้อมทั้งระดมเจ้าหน้าที่และเครื่องมือต่าง ๆ เข้าให้การช่วยเหลือฟื้นฟูอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งได้กำชับให้ทุกพื้นที่เตรียมความพร้อมรับมือกับพายุในช่วงฤดูฝน เตรียมแผนเผชิญเหตุพร้อมรับสถานการณ์น้ำหลาก แจ้งเตือนผ่านสื่อทุกช่องทางอย่างต่อเนื่องและทันเหตุการณ์ แนะประชาชนติดตามข่าวสารสภาวะอากาศอย่างใกล้ชิด เพิ่มความระมัดระวังอันตรายจากพายุในช่วงฤดูฝนเพื่อให้เกิดความปลอดภัยสูงสุด

จากนั้น นายกรัฐมนตรีและคณะเดินทางไปเยี่ยมบ้านครอบครัวของผู้เสียขีวิต ณ บ้านเลขที่ 5 และบ้านเลขที่ 116/5 หมู่ที่ 18 ตําบลเนินปอ อําเภอสามง่าม จังหวัดพิจิตร และได้เข้าเคารพศพผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าว โอกาสนี้นายกรัฐมนตรีเยี่ยมบ้านเรือนและทักทายประชาชนที่ได้รับความเสียหายจากสถานการณ์วาตภัยในบริเวณใกล้เคียงด้วย

ก่อนเดินทางกลับกรุงเทพมหานคร นายกรัฐมนตรีและคณะเดินทางไปเยี่ยมผู้ประสบภัยจากสถานการณ์วาตภัย ณ โรงพยาบาลพิจิตร จังหวัดพิจิตร โดยนายกรัฐมนตรีได้เข้าเยี่ยมผู้ป่วยที่ยังพักรักษาตัวอยู่ ณ หอผู้ป่วยศัลยกรรมหญิง ชั้น 3 จำนวน 2 ราย และหอผู้ป่วยศัลยกรรมกระดูก ชั้น 2 จำนวน 2 ราย โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีให้กำลังใจแก่ครอบครัวผู้ได้รับบาดเจ็บพร้อมขอให้มีสุขภาพร่างกายแข็งแรงขึ้นและหายป่วยในเร็ววัน ขอให้ญาติและครอบครัวมีกำลังใจที่ดี ในส่วนของการดูแลช่วยเหลือเยียวยาขอให้หน่วยงานประสานดูแลให้ครบถ้วนและดำเนินการอย่างถูกต้องตามระเบียบต่อไป

ทั้งนี้ จากเหตุการณ์วาตภัยที่เกิดขึ้น ส่งผลให้อาคารโดม โรงเรียนวัดเนินปอถล่ม มีผู้เสียชีวิต 7 ราย บาดเจ็บรวม 18 ราย แบ่งเป็นผู้บาดเจ็บสาหัส 6 ราย และกลับบ้านได้แล้ว 12 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 24 พฤษภาคม 2566 เวลา 08.00น.) และอำเภอสามง่าม จังหวัดพิจิตร มีพื้นที่ประสบภัย 3 ตำบล 16 หมู่บ้าน บ้านพักอาศัยได้รับความเสียหาย 408 หลัง โรงเรียน 2 แห่ง วัด 1 แห่ง ซึ่งจังหวัดพิจิตรได้ประกาศเขตพื้นที่ให้ความช่วยเหลือแล้ว ประกอบด้วย ตำบลเนินปอ 7 หมู่บ้าน ตำบลรังนก 6 หมู่บ้าน และตำบลสามง่าม 3 หมู่บ้าน โดยมีการจัดตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์และให้ความช่วยเหลือสาธารณภัย วาตภัย อำเภอสามง่าม จังหวัดพิจิตร ขึ้น ณ อาคารอเนกประสงค์ หมู่ที่ 1 ตำบลเนินปอ อำเภอสามง่าม เป็นจุดประสานงานการให้ความช่วยเหลือด้านต่าง ๆ ทั้งการช่วยเหลือเยียวยาครอบครัวผู้ประสบภัย การซ่อมแซมฟื้นฟูสถานที่เกิดเหตุ และเป็นศูนย์กลางการรับบริจาคปัจจัย สิ่งของช่วยเหลือครอบครัวผู้ประสบภัยจากหน่วยงานต่าง ๆ ทุกภาคส่วน

โดยรัฐบาลได้มอบเงินช่วยเหลือจากกองทุนเงินช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย สำนักนายกรัฐมนตรี ดังนี้
1) ค่าจัดการศพ รายละ 50,000 บาท
2) เงินทุนเลี้ยงชีพ สำหรับครอบครัวผู้เสียชีวิต 30,000 บาท และครอบครัวผู้เสียชีวิตที่มีบุตรอายุไม่เกิน 25 ปีบริบูรณ์ อีกครอบครัวละ 50,000 บาท
สำหรับผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์สาธารณภัยทั่วไป จะได้รับเงินช่วยเหลือจากกองทุนช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย สำนักนายกรัฐมนตรี โดยผู้บาดเจ็บสาหัส รายละ 30,000 บาท และผู้บาดเจ็บเล็กน้อย รายละ 15,000 บาท ทั้งนี้ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีอยู่ระหว่างรอข้อมูลสรุปรายละเอียดผู้บาดเจ็บจากทางจังหวัดพิจิตร เพื่อนำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะกรรมการเงินกองทุนช่วยเหลือฯ พิจารณาจ่ายเงินให้ความช่วยเหลือผู้บาดเจ็บต่อไป

ส่วนกระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้มอบเงินช่วยเหลือครอบครัวผู้เสียชีวิต รายละ 10,000 บาท (จ่ายแล้ว) และเงินช่วยเหลือสำหรับผู้บาดเจ็บสาหัส รายละ 5,000 บาท ผู้บาดเจ็บ รายละ 3,000 บาท อยู่ระหว่างดำเนินการ ทั้งนี้ ในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการจะมอบเงินช่วยเหลือเฉพาะนักเรียน โดยจะมีการพิจารณาทบทวนการมอบเงินช่วยเหลือให้ครอบครัวอีกครั้ง

พร้อมกันนี้ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จังหวัดพิจิตร มอบเงินช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ ดังนี้
1) ค่าสะเทือนใจ รายละ 2,300 บาท
2) ค่าทำศพ รายละ 29,700 บาท
3) ในกรณีที่ผู้เสียชีวิตเป็นหัวหน้าครอบครัวหรือเป็นผู้ที่ทำงานเลี้ยงดูครอบครัวเป็นหลัก มอบเงินสงเคราะห์ครอบครัวเพิ่มให้อีก 29,700 บาท
4) ผู้บาดเจ็บพักรักษาตัวในโรงพยาบาล เกิน 3 วัน มอบเงินช่วยเหลือเพิ่มเติมรายละ 4,000 บาท

นอกจากนี้ ภาคราชการ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม องค์กรการกุศล มูลนิธิต่าง ๆ ได้เข้ามาให้ความช่วยเหลือครอบครัวผู้ประสบภัยเพิ่มเติม

 

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า