Skip to content
Home » ชาวนาพิจิตร-นครสวรรค์เฮ ใกล้รับเงินค่าจำนำข้าวเปลือกหลังรอมากว่า 16 ปี

ชาวนาพิจิตร-นครสวรรค์เฮ ใกล้รับเงินค่าจำนำข้าวเปลือกหลังรอมากว่า 16 ปี


นายกฯเร่งให้ความช่วยเหลือเกษตรกร 470 ครอบครัวที่ยังไม่ได้รับเงินเยียวยาค่าจำนำข้าวเปลือกปีการผลิต พ.ศ.2548/2549 กว่า 58 ล้าน หลังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชุมติดตามความคืบหน้าพบชาวนาเดือดร้อนจริงรอเงินมากว่า 16 ปี
.
นายพีระพันธ์ สาลีรัฐวิภาค เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการอำนวยความเป็นธรรมและเร่งรัดการปฏิบัติราชการ มอบให้ พล.ต.เจียรนัย วงศ์สอาด ประธานคณะอนุกรรมการฯ เป็นประธานการประชุมพิจารณาความเดือดร้อนของชาวนาที่ยังไม่ได้รับเงินค่าจำนำข้าวเปลือกจากโครงการรับจำนำข้าวเปลือกเพื่อเกษตรกรปีการผลิต พ.ศ.2548/ 2549 โดยมี พ.ต.อ.สุรพงศ์ เปล่งขำ รอง ผอ.องค์การคลังสินค้า (อคส.) นายยุทธนา สาโยชนกร รอง ผอ.สำนักงบประมาณ นายวิชิต จรัสสุขสวัสดิ์ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา นายไชยยา สมถวิล ปลัดจังหวัดพิจิตร ดร.หิมาลัย ผิวพรรณ ผู้ประสานงาน นายสุรชาติ ศรีบุศกร ส.ส.พิจิตร ผู้ประสาน และนายมุนินทร์ จันทรา ตัวแทนเกษตรกรชาวนาจังหวัด จำนวน 470 ครอบครัวร่วมประชุม ณ ห้องประชุมตึกบัญชาการ 2 ทำเนียบรัฐบาล
.
พล.ต.เจียรนัย วงศ์สอาด ประธานคณะอนุกรรมการฯ เปิดเผยว่า นายมุนินทร์ จันทรา ตัวแทนเกษตรกรชาวนาจังหวัดจำนวน 470 ครอบครัวได้ยื่นหลักฐานต่อ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชานายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เมื่อครั้งไปลงพื้นที่ในจังหวัดพิจิตรเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา แจ้งให้นายกฯทราบว่ายังไม่ได้รับเงินค่าจำนำข้าวเปลือกจากโครงการรับจำนำข้าวเปลือกเพื่อเกษตรกรปีการผลิต พ.ศ.2548/2549 จำนวนเงินกว่า 58 ล้านบาท นายกฯจึงได้สั่งการให้ นายพีระพันธ์ สาลีรัฐวิภาค เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ตรวจสอบ พบว่า ชาวนากลุ่มดังกล่าวได้รับความเดือดร้อนจริง จึงประสานให้ตัวแทนกลุ่มชาวนาที่ได้รับความเดือดร้อนพบกับนายเฉลิมพล เพ็ญสูตร ผอ.สำนักงบประมาณ เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา เพื่อหารือแนวทางดำเนินการแก้ไขในเรื่องนี้
.
ด้าน ดร.หิมาลัย ผิวพรรณ ผู้ประสานงาน กล่าวว่า หลังจากนายกรัฐมนตรีได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมเกษตรกรชาวจังหวัดพิจิตร และนครสวรรค์เมื่อวันที่ 30 มกราคมที่ผ่านมา มีชาวนาจังหวัดพิจิตรไม่ได้รับเงินตอบแทนโครงการรับจำนำข้าวเปลือกเพื่อเกษตรกรปีการผลิต พ.ศ.2548/ 2549 จนถึงปัจจุบันนี้ 10 กว่าปีแล้ว เมื่อนายกฯสั่งการให้นายพีระพันธ์ สารีรัฐวิภาค เลขาธิการนายกรัฐมนตรีตรวจสอบก็พบว่าชาวนาได้รับความเดือดร้อนจริงจึงประสานให้ตัวแทนกลุ่มชาวนาที่ได้รับความเดือดร้อน เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้เพื่อหารือแนวทางดำเนินการแก้ไข
.
ทั้งนี้ ในที่ประชุม พล.ต.เจียรนัย วงศ์สอาด ประธานที่ประชุมฯ จึงได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงบประมาณ องค์การคลังสินค้า (อคส.) สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และทางจังหวัดพิจิตร ให้นำเรื่องเข้าคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (กขช.)โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเพื่อดำเนินการช่วยเหลือจ่ายค่าเยียวยา เพื่อความเป็นธรรมให้เกษตรกรชาวนาต่อไป

ขณะที่ นายมุนินทร์ จันทรา ตัวแทนชาวนาที่เดือดร้อน จังหวัดพิจิตร กล่าวว่า ต้องขอขอบคุณ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องที่มีความจริงใจต่อเกษตรกรชาวนาที่เดือดร้อนทั้งหมด โดยไม่สนใจว่าเป็นโครงการฯสมัยรัฐบาลไหน หรือเป็นคู่แข่งทางการเมือง ได้เห็นถึงความถูกต้องและสาระสำคัญในข้อกฎหมายทั้งศาลชั้นต้นจังหวัดพิจิตรและศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาว่า การรับจำนำข้าวเปลือกชาวนาที่เสียหายกว่า 58 ล้านบาทนี้ เป็นสัญญาผูกพันกับฝ่ายรัฐบาลคือ อคส.จะต้องชำระค่าจำนำข้าวชาวนาที่เสียหาย ไม่ใช่หน้าที่ฝ่ายโรงสีที่เข้าร่วมโครงการ
.
“ข้อพิพาทระหว่างโรงสีกับ อคส.หรือเจ้าหน้าที่รัฐเกี่ยวข้องไม่ว่าใครผิดหรือถูกใครทุจริตก็ตาม ก็ให้ไปฟ้องร้องกันอีกเรื่องหนึ่ง จึงทำให้ตัวแทนชาวนาทั้งหมดพอใจ โดยมีความเชื่อมั่นว่าจะได้รับเงินค่าจำนำข้าวจากรัฐบาลในเร็วๆนี้ และได้ประสานทางโทรศัพท์ให้ชาวนาของจังหวัดพิจิตรและจังหวัดนครสวรรค์ที่รอเงินก้อนนี้อยู่ได้รับทราบความคืบหน้ามติที่ประชุมดังกล่าวแล้ว” นายมุนินทร์ กล่าว