Skip to content
Home » พีระพันธุ์ เร่งกรมที่ดินแก้ปัญหาที่ดิน“อ.พระแสง สุราษฎร์ฯ- อ. มวกเหล็ก สระบุรี” หลังชาวบ้านร้อง ขรก.ล่าช้าไม่ทำตามคำสั่งศาล

พีระพันธุ์ เร่งกรมที่ดินแก้ปัญหาที่ดิน“อ.พระแสง สุราษฎร์ฯ- อ. มวกเหล็ก สระบุรี” หลังชาวบ้านร้อง ขรก.ล่าช้าไม่ทำตามคำสั่งศาล

พีระพันธุ์ เร่งกรมที่ดินแก้ปัญหาที่ดิน“อ.พระแสง สุราษฎร์ฯ- อ. มวกเหล็ก สระบุรี” หลังชาวบ้านร้อง ขรก.ล่าช้าไม่ทำตามคำสั่งศาล-ให้ข้อมูลผิดพลาดจนเสียหาย ชี้ หากพบ”ขรก.” ทำประชาชนเดือดต้องรับผิดชอบทั้งแพ่ง-อาญา

พีระพันธุ์ จี้กรมที่ดินเร่งสาง 2 ปัญหาร้องเรียน เคสแรกเป็นกรณีพิพาทที่ดินใน อ.พระแสง จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งขอให้กรมที่ดินดำเนินการเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ของบริษัทเอกชนตามคำสั่งศาลปกครอง หลังยื้อเวลายื่นอุทธรณ์โดยอ้างผลพิจารณาของคณะกรรมการฯว่า ยังไม่มีเหตุผลให้เพิกถอน แต่ขณะเดียวกัน ก็ยังไม่มีรายงานผลการพิจารณาของคณะกรรมการฯ ตามระเบียบราชการ ส่วนเคสที่ 2 เป็นกรณีที่ดินใน อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี ซึ่งกรมที่ดินมีคำสั่งให้เพิกถอนเอกสารสิทธิ์ของเอกชนที่ซื้อที่ดินมาอย่างถูกต้อง แต่กลับถูกแจ้งเป็นเอกสารสิทธิ์ไม่ชอบหลังขอยื่นจัดสรรทำประโยชน์ ชี้หากข้าราชการทำผิดประมาทเลินเล่อร้ายแรงจนเป็นเหตุให้ประชาชนเดือดร้อน อาจต้องรับผิดทั้งแพ่ง-อาญา ย้ำให้ตระหนักไว้เสมอข้าราชการทำหน้าที่เป็นผู้รับใช้ประชาชน ต้องยืดถือความเป็นธรรมเป็นสำคัญ

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 27 ต.ค.2565 ที่อาคารกองบัญชาการ 2 ทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ปรึกษานายกรัฐมนตรีในฐานะประธานคณะกรรมการอำนวยความเป็นธรรมและเร่งรัดการปฏิบัติราชการ เป็นประธานในการประชุมตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องที่ดิน 2 กรณี โดยมีตัวแทนจากกรมที่ดินมารายงานชี้แจงการดำเนินงาน ตามข้อร้องเรียนของประชาชน

สำหรับกรณีแรกเป็นการตรวจสอบข้อเท็จจริง จากประชาชนชุมชนสันติพัฒนา ต.บางสวรรค์ อ.พระแสง จ.สุราษฎร์ธานี ได้ ร้องเรียนโดยขอให้เร่งรัดกรมที่ดินดำเนินการตามคำสั่งศาลปกครอง หลังจากยื่นฟ้องกรมที่ดิน อธิบดีกรมที่ดิน คณะกรรมการสอบสวนตามความในมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน กรมป่าไม้ ในข้อกล่าวหาเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสุราษฎร์ธานี สาขาพระแสง และบริษัทเอกชน ร่วมกันออกเอกสารสิทธิให้บริษัทเอกชนโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้ชาวบ้านในชุมชนไม่สามารถใช้ประโยชน์สาธารณะในพื้นที่ได้

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2564 ศาลปกครองมีคำพิพากษาให้อธิบดีกรมที่ดิน ดำเนินการเพิกถอนเอกสารสิทธิที่เป็น น.ส. 3ก จำนวน 10 แปลง และโฉนดที่ดิน 13 แปลง ของบริษัทเอกชน และให้อธิบดีกรมป่าไม้ ดำเนินการให้บริษัทเอกชนออกจากที่ดินพิพาทภายใน 180 วัน นับตั้งแต่วันที่คดีถึงที่สุด แต่จนถึงปัจจุบันกรมที่ดินก็ยังไม่ได้ดำเนินการตามคำสั่งศาลแต่อย่างใด

ด้านตัวแทนกรมที่ดินระบุว่า สาเหตุที่กรมที่ดินยังไม่ดำเนินการตามคำสั่งศาล เนื่องจากกรมที่ดินยังอยู่ในระหว่างการอุทธรณ์คำสั่งศาลปกครองต่อกรณีดังกล่าว ซึ่งเป็นไปตามความคิดเห็นของคณะกรรมการฯ ของกรมที่ดินจำนวน 5 ท่าน ที่ถูกตั้งขึ้นหลังชาวบ้านร้องเรียน โดยคณะกรรมการฯ มีความเห็นว่า การออกเอกสารสิทธิ์ดังกล่าวเป็นไปโดยชอบแล้ว แต่ระหว่างนั้นชาวบ้านได้นำเรื่องฟ้องต่อศาลปกครอง จนกระทั่งศาลมีคำสั่งเมื่อวันที่ 19 มี.ค.2564 ให้กรมที่ดินเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ของบริษัทเอกชน แต่กรมที่ดินอ้างถึงผลการประชุมของคณะกรรมการฯ ในครั้งนั้น จึงได้ยื่นเรื่องอุทธรณ์ต่อศาลปกครองทำให้ยังไม่ได้ดำเนินการตามคำสั่งศาลปกครองดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม นายพีระพันธุ์ ได้สอบถามข้อเท็จจริงในรายละเอียดการดำเนินการตามขั้นตอนทั้งหมดตามที่ตัวแทนกรมที่ดินชี้แจง ทำให้พบว่าในการดำเนินการของกรมที่ดิน ตั้งแต่ขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการฯ 5 ท่าน ยังไม่เป็นที่สิ้นสุด เนื่องจากยังไม่ได้ส่งเรื่องต่อเพื่อให้รองอธิบดีฯ ผู้รับผิดชอบในขณะนั้นลงนามรับรองผลการพิจารณา จึงต้องถือว่าผลการประชุมไม่สิ้นสุด และไม่เป็นไปตามระเบียบ จึงยังค้านความเห็นของคณะกรรมการฯ ไม่ได้

แต่ภายหลังศาลปกครองมีคำพิพากษา กรมที่ดินกลับนำผลการประชุมของคณะกรรมการมาเป็นเหตุผลในการยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครอง ซึ่งเป็นการดำเนินการที่ไม่ถูกต้อง จึงได้สั่งการให้กรมที่ดินกลับไปรวบรวมรายละเอียดและเอกสารเกี่ยวกับการดำเนินการทั้งหมดเพื่อนำมาตรวจสอบอีกครั้ง ซึ่งหากพบว่ามีการกระทำผิด และขั้นตอนไม่ถูกต้อง จะได้ดำเนินการกับเจ้าหน้าที่ผู้กระทำผิดให้เป็นไปตามกฎหมาย และแก้ไขปัญหาที่ดินดังกล่าวให้กับประชาชน

“เรื่องนี้ผมเป็นเจ้าของเรื่องเองตั้งแต่ปี 2552-2553 สมัยที่ผมเป็น รมว.ยุติธรรม ซึ่งเหตุการณ์ผ่านมากี่ปีแล้ว แต่แก้ไขปัญหานี้ก็ยังไม่จบ ผมอยากให้นึกถึงว่า ถ้าเรื่องนี้เป็นเรื่องของเรา และส่วนราชการทำแบบนี้กับเรา แล้วเราจะรู้สึกอย่างไร กรณีนี้ มีเหตุการณ์ยิงกันจนทำให้มีผู้เสียชีวิต และชาวบ้านเดือดร้อนมากี่ปีแล้ว มันควรทำให้จบได้แล้ว และหากตรวจสอบว่า มีการกระทำความผิดอยู่ที่ใคร คนนั้น หรือส่วนนั้นก็ต้องรับผิดชอบไปตามกฎหมาย” นายพีระพันธุ์กล่าวกับตัวแทนของกรมที่ดิน

ส่วนกรณีที่สอง เป็นการร้องเรียนของผู้ร้องซึ่งเป็นภาคเอกชน โดยได้ยื่นเรื่องฟ้องต่อศาลปกครอง และศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ กรณีถูกกรมที่ดินเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ที่ดินใน อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี ซึ่งได้ซื้อจากเจ้าของเดิมมาตั้งแต่ปี 2553 ผู้ร้องระบุว่าก่อนซื้อที่ดินดังกล่าว ได้ทำการตรวจสอบความถูกต้อง ด้วยการสอบจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องทั้งหมดแล้วว่าที่ดินแปลงดังกล่าวสามารถซื้อขายได้หรือไม่ ซึ่งได้รับคำตอบจากทุกหน่วยงานยืนยันว่าเป็นที่ดินที่ถูกต้อง และสามารถซื้อขายได้ จึงได้ตัดสินใจซื้อที่ดินดังกล่าว อีกทั้งไม่เคยได้รับแจ้งจากทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า เป็นเอกสารสิทธิที่มิชอบ ต่อมาราวปี 2559 จึงได้ดำเนินการขออนุญาตจัดสรรเพื่อทำธุรกิจบนที่ดินแปลงดังกล่าว แต่กลับได้รับแจ้งจากหน่วยงานราชการว่า เอกสารสิทธิที่ถืออยู่ออกโดยมิชอบ และถูกเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ในปี 2560 ซึ่งผู้ร้องได้พยายามตรวจสอบข้อเท็จจริงในรายละเอียดแนวเขตที่ดินต่างๆ เพื่อโต้แย้งและได้ทำหนังสือต่อกรมที่ดิน เพื่อขอให้พิจารณายกเลิกการเพิกถอน แต่กลับไม่ได้รับการพิจารณาแต่อย่างใด ทำให้เกิดความเดือดร้อนเสียหาย จึงได้มาร้องเรียนขอความเป็นธรรมจากนายพีระพันธุ์ ประธานคณะกรรมการอำนวยความเป็นธรรมและเร่งรัดการปฏิบัติราชการ เพื่อให้ตรวจสอบกรณีดังกล่าว

สำหรับกรณีนี้ ตัวแทนจากกรมที่ดินชี้แจงว่า จากผลการตรวจสอบของที่ดิน จ.สระบุรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแจ้งว่าตำแหน่งที่ดินดังกล่าวอยู่ในเขตของป่าไม้ถาวร แม้จะมีการโต้แย้งเรื่องการออกใบจองว่า ออกมาก่อนการประกาศเขตป่าไม้ถาวร แต่จากการตรวจสอบของหน่วยงานรัฐ ก็พบว่าเป็นการออกใบจองหลังการประกาศเขตป่าไม้ถาวรตามคำยืนยันของกรมป่าไม้ จึงถือว่าเป็นการออกที่ไม่ชอบ ทำให้เอกสารสิทธิที่ออกให้จากใบจองดังกล่าวไม่ชอบไปด้วย และถึงแม้ผู้ร้องจะโต้แย้งว่าพื้นที่ถูกกันออกจากเขตป่าไม้ถาวรแล้ว แต่ก็เป็นเพียงแค่บางส่วนเท่านั้น และที่ดินที่อยู่นอกพื้นที่เขตป่าไม้ถาวร กรมที่ดินไม่ได้เพิกถอนแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม ด้านผู้ร้องระบุว่าได้ดำเนินการขอออกใบจองตั้งแต่ปี 2512 และมีการออกเอกสารสิทธิ์ของเจ้าของเดิมในปีเดียวกัน เนื่องจากกรมที่ดินได้รับคำยืนยันจากกรมป่าไม้ว่า ไม่ได้อยู่ในเขตป่าไม้ถาวร จึงดำเนินการตามคำยืนยันของกรมป่าไม้จนสามารถออกเอกสารสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าว

นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงและการรายงานรายละเอียดต่างๆ ของกรมที่ดินทำให้ทราบว่า กรณีนี้เกิดจากความไม่ชัดเจนของการกั้นแนวเขตป่าไม้ตามแผนที่ดาวเทียม ที่มีความละเอียดที่แตกต่างกันระหว่างในอดีตกับปัจจุบัน จนกลายเป็นปัญหาเรื่องแนวเขตที่ดิน ดังนั้นสิ่งที่ต้องตรวจสอบให้ความเป็นธรรม คือการที่ผู้ร้องได้ที่ดินดังกล่าวมานั้นเป็นการดำเนินการโดยสุจริตใจและเชื่อถือในหน่วยงานของรัฐ เพราะได้มีการตรวจสอบแล้วและต่อมาเกิดปัญหา แม้หน่วยงานที่ดินจะพบว่าเป็นที่ดินที่อยู่ในเขตป่า แต่กลับไม่แจ้งให้ผู้ร้องรับทราบเพื่อแก้ไขปัญหา เมื่อผู้ร้องดำเนินการขอจัดสรรที่ดินเพื่อทำประโยชน์ จึงทราบภายหลังทำให้เกิดความเดือดร้อนและเสียหาย

ดังนั้น นายพีระพันธุ์ จึงขอให้กรมที่ดินกลับไปตรวจสอบลำดับช่วงเวลา ข้อมูล และรายละเอียดขั้นตอนต่างๆ ให้ชัดเจนตามข้อโต้แย้ง รวมทั้งเอกสารที่ผู้ร้องได้ส่งเพิ่มเติม เพื่อทำให้ข้อเท็จจริงปรากฎ  “ถ้าข้อเท็จจริงจบว่าผิด ก็ต้องว่ากันไปตามผิดและต้องดำเนินการเพิกถอน แต่ความเสียหายของเจ้าของที่เกิดขึ้น หากเกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ หน่วยงานของรัฐที่ทำให้ผู้ร้องหลงเชื่อหน่วยงานของรัฐ ก็ต้องรับผิดชอบชดเชยให้เขา ซึ่งถ้าเป็นความบกพร่องประมาทเลินเล่อของระบบราชการ หน่วยงานต้นสังกัดของเจ้าหน้าที่ก็ต้องรับผิดชอบ แต่ถ้าเป็นความผิดพลาดจงใจกลั่นแกล้ง เช่น การดึงเอกสารออกตามข้อร้องเรียนของผู้ร้องก็ต้องรับผิดชอบส่วนตัว ทั้งแพ่งและอาญา ซึ่งต้องให้ความเป็นธรรมทั้งสองฝ่าย ดังนั้นถ้าที่ดินดังกล่าวตั้งอยู่ในแนวเขตป่า ถ้าผิดจริงก็ต้องเพิกถอน จะบอกผิดเป็นถูกไม่ได้ แต่ถ้าความผิดครั้งนี้ เกิดจากฝ่ายรัฐและทำให้เอกชนเสียหาย ต้องให้ความเป็นธรรมเพราะเขาไม่ได้รับความถูกต้องจากภาครัฐ” นายพีระพันธุ์ กล่าว

นอกจากนี้ นายพีระพันธุ์ ยังกล่าวอีกว่าปัญหาที่เกิดขึ้นจากการร้องเรียนของ 2 กรณีนี้ เป็นความเดือดร้อนที่ประชาชนได้รับจากการดำเนินการจากภาครัฐ โดยเฉพาะการที่ข้าราชการปฏิบัติงานไม่ถูกต้อง ซึ่งส่วนใหญ่เกิดเพราะ 1. การลุแก่อำนาจ 2. การอาศัยความไม่รู้กฎหมายของประชาชน ซึ่งไม่รู้ว่าสิทธิอะไรที่ทำได้ตามกฎหมายบ้าง และ 3. เมื่อเกิดปัญหาแล้ว ประชาชนไม่ต้องการให้เกิดปัญหาระยะยาวจึงปล่อยผ่าน หรือกรณีผู้ที่ต้องการต่อสู้ก็ไม่รู้จะพึ่งใคร ได้แต่สู้ไปตามกำลังที่ตัวเองทำได้สุดท้ายก็หมดแรง

ทั้งนี้ ในปัจจุบันมีกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ถ้าความเสียหายเกิดจากความประมาทเลินเล่อของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ประชาชนต้องได้รับการชดเชย ซึ่งหากเจ้าหน้าที่คนนั้นทำผิดด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ทางต้นสังกัดจะจ่ายค่าชดเชยให้กับผู้เสียหายไปก่อน หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่คนดังกล่าวก็ต้องมาจ่ายเงินชดเชยคืนให้กับต้นสังกัด และถ้ามีเจตนาทำให้ประชาชนเสียหายก็ต้องรับผิดทางอาญาด้วย เรื่องนี้ตนมองว่าเป็นเรื่องความไม่เป็นธรรม เพราะเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ถือว่าตนเองมีอำนาจทางราชการ ใช้อำนาจทางกฎหมายวินิจฉัยแบบผิดๆ ถูกๆ ทำให้ประชาชนเสียหาย ทั้ง ๆ ที่ไม่ควรจะกระทำแบบนั้น

“ผมจึงอยากฝากข้าราชการทุกท่านว่า พวกเราซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ บางครั้งมารับช่วงงานต่อจากคนอื่นที่เขาทำไว้จึงต้องตรวจดูให้ดี เพราะหากทำผิดพลาดแม้จะไม่ใช่ความผิดของเรา แต่เมื่อมาอยู่ในความรับผิดชอบของเราวันนี้ และไม่ได้ตรวจสอบให้ดี แล้วทำไปตามสิ่งที่เขาทำผิดพลาดไว้ในอดีต สุดท้ายมันกลายเป็นความผิดพลาดของเราเอง ซึ่งความจริงไม่ต้องรับผิด ก็เลยต้องรับผิดไป ผมขอฝากถึงเจ้าหน้าที่ข้าราชการทุกคนในการใช้ตำแหน่งหน้าที่ราชการในการอำนวยความเป็นธรรมให้กับประชาชน อันนี้ก็ต้องระมัดระวังเพื่อไม่ให้เกิดความผิด ที่สำคัญคือ เราต้องตระหนักไว้เสมอว่า เราทำหน้าที่เป็นผู้รับใช้ประชาชน สิ่งสำคัญที่สุดก็คือความเป็นธรรม ขอให้นึกไว้เสมอว่าเหตุเหล่านั้น ถ้าเกิดขึ้นกับเราเอง เราต้องการได้รับความเป็นธรรมแบบไหน ก็ขอให้ดำเนินการให้กับประชาชนแบบนั้นด้วยเช่นกัน” นายพีระพันธุ์ กล่าวในตอนท้าย

#รวมไทยสร้างชาติ
#สู้ให้ทุกปัญหา
#พึ่งพาได้ทุกเรื่อง
#สร้างสังคมเท่าเทียม