Skip to content
Home » เครือข่ายประมงยื่นหนังสือร้องเรียนที่ “พรรครวมไทยสร้างชาติ” มั่นใจ “พีระพันธุ์” ช่วยได้!!

เครือข่ายประมงยื่นหนังสือร้องเรียนที่ “พรรครวมไทยสร้างชาติ” มั่นใจ “พีระพันธุ์” ช่วยได้!!

เครือข่ายประมงยื่นหนังสือร้องเรียนที่ “พรรครวมไทยสร้างชาติ” มั่นใจ “พีระพันธุ์” ช่วยได้หลังชาวประมงหลายรายถูกกล่าวหาว่าทำผิด กม.จนทำมาหากินไม่ได้

เครือข่ายประมงหลายพื้นที่รวมตัวยื่นหนังสือร้องเรียนที่ “พรรครวมไทยสร้างชาติ” หวัง”พีระพันธุ์” หาทางออกประเด็นทางกฎหมาย หลังถูกแจ้งความดำเนินคดีหลายข้อหา ต้องเสียค่าปรับหลายแสนถึงหลายล้าน มั่นใจเป็นที่พึ่งคนทำมาหากินได้ ด้านหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติระบุ ประชาชนไม่ได้รู้รายละเอียดกฎหมายจึงต้องช่วยแนะนำเพื่อใช้เป็นเครื่องมือคลายความเดือดร้อนและให้ความเป็นธรรม

เมื่อวันที่ 18 ส.ค. กลุ่มผู้ประกอบการเครือข่ายชาวประมง นำโดย นายพีระวัฒน์ ธีรานุกูลชัย ตัวแทนนายกสมาคมการประมงสมุทรสาคร นายธนกร ถาวรชินโชติ นายกสมาคมประมงแสมสาร

นายวรเศรษฐ์ โภธนกุล ตัวแทนจากประมงไทยรายวัน นายวสุธร อี๊ธงชัย ชาวประมง และนายพงศพันธุ์ โรจน์ไพรินทร์ ชาวประมงเดินทางเข้าพบ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ เพื่อขอคำปรึกษาด้านกฎหมายและขอความเป็นธรรมจากประเด็นความเดือดร้อนต่างๆ ของชาวประมงในขณะนี้

นายพีระวัฒน์ ในฐานะตัวแทนชาวประมง กล่าวว่า วันนี้ตนและพวกรวมตัวกันมาจากหลายพื้นที่ เพื่อเข้ามาขอความช่วยเหลือจาก นายพีระพันธุ์ เพราะได้รับความเดือดร้อนในปัญหาที่แตกต่างกันไป เช่น มาตรฐานการตรวจเครื่องมือทำการประมงที่ไม่ชัดเจน,ข้อกฎมหายควบคุมบังคับใช้แรงงานบนฝั่งกับแรงงานภาคประมง การแก้ไขกฎหมาย พรก.การประมง 2558 (ฉบับแก้ไข 2560) และผลักดันร่างกฎหมายฉบับประชาชน

“ตอนนี้เราได้รับความเดือดร้อนมาก อยากจะขอความช่วยเหลือความเป็นธรรม เกี่ยวกับประเด็นข้อกฎหมายต่างๆ เพราะมั่นใจในความรู้ความสามารถด้านกฎหมายของนายพีระพันธุ์ การทำงานของพรรครวมไทยสร้างชาติที่ได้ประกาศว่าจะเป็นที่พึ่งของประชาชนได้ ที่ผ่านมาก็ได้รับความช่วยเหลือจากนายพีระพันธุ์มาแล้ว เช่นกรณีการลงพื้นที่ช่วยเหลือชาวประมงแสมสาร แต่ตอนนี้ชาวประมงยังมีความเดือดร้อนอีกหลายเรื่อง เช่น กรมประมงแจ้งข้อกล่าวหาชาวประมงจำนวนหนึ่ง เรื่องเครื่องมือทำประมงอวนลากผิดกฎหมาย มีโทษปรับสูงถึง 600,000 – 6,000,000 บาทพร้อมโทษของกรมการปกครอง หรือแนวทางการเรียกร้องค่าเสียหายจากการถูกระงับการออกเรือของเรือประมง 9 ลำ ที่เป็นผลสืบเนื่องจากกรณีหลังถูกนายหน้า ร่วมกับเจ้าหน้าที่ของรัฐในการกระทำผิดออกใบเอกสารหนังสือคนประจำเรือปลอมของแรงงานประมงต่างด้าว ทั้งที่ชาวประมงเป็นผู้ถูกกระทำ และการได้รับผลกระทบจากมาตรา 57 ห้ามมิให้ผู้ใดจับสัตว์น้ำหรือนำสัตว์น้ำที่มีขนาดเล็ก ซึ่งก็ได้รับคำแนะนำที่ดีจากท่าน และรับปากว่าจะหาแนวทางช่วยเหลือ ถือว่าเป็นที่พึ่งของชาวประมงได้อย่างดี” ตัวแทนชาวประมงกล่าว

ด้านนายพีระพันธุ์ กล่าวว่า ตนมุ่งที่จะให้ความช่วยเหลือประชาชนทุกกลุ่มที่เดือดร้อนอยู่แล้ว วันนี้ที่ชาวประมงเดินทางมา ก็เพราะเขาเดือดร้อนหลายอย่าง ซึ่งตนก็ได้ให้คำแนะนำไป ส่วนที่เกี่ยวข้องกับปัญหาด้านกฎหมาย เช่น เกิดจากความไม่ชัดเจน หรือไม่ถูกต้องก็จะได้ทำงานเพื่อช่วยแก้ไขให้ประชาชน เพราะประชาชนส่วนใหญ่ไม่ได้รู้เรื่องกฎหมายละเอียดนัก ในส่วนเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานเอง ก็ต้องระวังเรื่องการแจ้งข้อกล่าวหาว่าอยู่ในขอบอำนาจและเป็นไปตามกรอบงานกฎหมายหรือไม่

ดังนั้นจึงต้องช่วยเพื่อให้กฎหมายเป็นเครื่องมือให้ความเป็นธรรมให้กับประชาชนได้อย่างแท้จริง อย่างเช่น กรณีการขอการเยียวยาของเรือแสมสารทั้ง 9 ลำ แม้กรมคุ้มครองสิทธิ์ ของกระทรวงยุติธรรม จะมีกฎหมายในการขอเยียวยา แต่กรณีนี้พบว่าไม่เข้าเงื่อนไขการเยียวยาดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ยังมีกฎหมายอื่นที่กำหนดให้ เจ้าหน้าที่ของรัฐที่ทำความเสียหายให้กับประชาชนหรือองค์กรของตัวเองก็ต้องรับผิดชอบ ซึ่งแตกต่างจากกรณีของเงินเยียวยา เพราะเงินเยียวยาหมายถึงการไปขอความกรุณา แต่จะได้รับการตอบสนองหรือไม่ขึ้นอยู่หน่วยราชการ แต่กฎหมายที่ตนพูดถึงนี้ไม่ได้เป็นการไปขอความกรุณา แต่เป็นการขอชดเชยความเสียหาย แต่ต้องมีหลักฐานพิสูจน์ ว่าเสียหายตามที่แจ้งจริงๆ เป็นเรื่องรายละเอียดที่ประชาชนอาจจะยังไม่ทราบก็ต้องแนะนำ

“ผมยกตัวอย่างเช่น เสียหายวันละแสน ออกเรือไม่ได้ไป 30 วันขอค่าเยียวยา 3 ล้านย่อมไม่ได้แน่ แต่ถ้าเรามีหลักฐานว่าเราเสียหายเท่านี้ จากการสั่งการไม่ถูกต้อง หากเขาปฏิเสธไม่ให้ก็ต้องฟ้องเรียกค่าเสียหายแทน ตามกฎหมายความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพราะสิ่งที่เขาทำผิดกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เรื่องละเมิดธรรมดา ตามมาตรา 420 อยู่แล้ว ขณะเดียวกันก็มี พ.ร.บ.ว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐนี้ ที่เราสามารถใช้สิทธิ์ทางแพ่งเรียกค่าเสียหายได้อีก แต่ก็ต้องไปดูข้อเท็จจริงและหลักฐานว่าในทางกฎหมายสิ่งที่โดนกระทำเขาประมาทเลินเล่อหรือไม่ สิ่งที่เขารับผิดจะต้อง หนึ่งคือจงใจทำให้เราเสียหาย หรือ ประมาทเลินเล่อ คือรู้ว่าเราไม่ผิดแต่ตรวจสอบกฎหมายไม่ละเอียดชัดเจนทำให้ประชาชนเดือดร้อน แต่จะชนะคดีหรือไม่ก็อยู่ที่พยานหลักฐานด้วย ” นายพีระพันธุ์ กล่าว