Skip to content

6 ยุทธศาสตร์ เร่งทำใน 1 ปี!

  1. สร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม

 แม้ว่าการพัฒนาในระยะที่ผ่านมาจะยกระดับให้สังคมไทยมีความก้าวหน้าในหลายด้าน ทั้งการยกระดับความมั่นคงทางรายได้ที่ทำให้จำนวนคนยากจนลดลง การขยายบริการทางด้านการศึกษาและสาธารณสุข รวมถึงการพัฒนาสิทธิประโยชน์ของสวัสดิการด้านต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม ยังคงมีปัญหาด้านความแตกต่างของการเข้าถึงบริการภาครัฐในบางส่วน ที่สะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำที่ยังมีความจำเป็นต้องดำเนินการเพื่อสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคมในระยะถัดไป โดยมีนโยบายเร่งด่วน ดังนี้

                  4.1  เพิ่มความครอบคลุมของบริการสาธารณสุข ตั้งแต่การให้บริการทางสุขภาพปฐมภูมิ
ที่จะเน้นการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคโดยให้ลงไปถึงระดับพื้นที่ชุมชนที่มีความใกล้ชิดกับประชาชน จนไปถึงการพัฒนาการดูแลรักษาและการให้บริการทางการแพทย์ โดยจัดให้มีหมอทางไกล 24 ชั่วโมง ผ่านการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมการแพทย์ทางไกลมาใช้บริการประชาชน ตลอดจนการพัฒนาระบบการรับยาจากร้านขายยาใกล้บ้าน การจัดให้มีบริการแก่ผู้ป่วยที่มีภาวะพึ่งพิง ณ ที่อยู่อาศัยโดยไม่ต้องเดินทางมาที่สถานพยาบาล รวมทั้งสนับสนุนให้มีการจัดตั้งโรงพยาบาลวิสาหกิจเพื่อสังคมอย่างน้อย 1 แห่ง ต่อ 1 อำเภอ หรือ ต่อ 1 เขต ในกรุงเทพมหานคร และศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ ผู้ด้อยโอกาส และผู้ป่วยร้ายแรงระยะสุดท้าย อย่างน้อย 1 แห่ง ต่อ 1 อำเภอ หรือ ต่อ 1 เขต ในกรุงเทพมหานคร เช่นกัน ซึ่งจะเป็นการดำเนินการตาม พ.ร.บ. ส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม พ.ศ. 2562

                   4.2   ปรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและปรับวงเงินบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยปรับอัตราเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเป็น 1,000 บาทต่อคนต่อเดือน เพื่อสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และปรับวงเงินบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเป็น 1,000 บาทต่อคนต่อเดือน โดยที่ยังคงรักษาความสามารถทางการเงินและการคลังของภาครัฐให้มีความยั่งยืน รวมทั้งจัดระบบวงเงินฉุกเฉินรายละ 10,000 บาท

                  4.3   พัฒนาระบบการจ้างงานรายชั่วโมง และระบบประกันสังคมถ้วนหน้าทุกอาชีพ จัดทำระบบการจ้างงานรายชั่วโมงในระบบประกันสังคม เพื่อให้สอดคล้องกับรูปแบบการทำงานของคนรุ่นใหม่ และขยายระบบประกันสังคมให้ครอบคลุมทุกอาชีพ เพื่อให้สามารถนำแรงงานนอกระบบประกันสังคม อาทิ เกษตรกร และผู้ประกอบอาชีพอิสระ ให้เข้าสู่ระบบประกันสังคม เพื่อสร้างหลักประกันในชีวิต

                  4.4   ปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์และการรักษาพยาบาลในระบบประกันสังคม โดยปรับเพิ่มเงินสมทบของภาครัฐ เพื่อให้ผู้ประกันตนมีรายได้หลังเกษียณอายุไม่น้อยกว่า 10,000 บาทต่อเดือน และปรับเพิ่มเงินช่วยเหลือเลี้ยงดูบุตรแรกเกิดถึงอายุ 10 ปี เป็น 1,000 บาทต่อเดือน รวมทั้งเร่งศึกษาความเหมาะสมของการพัฒนาโรงพยาบาลสำหรับผู้ประกันตนเป็นการเฉพาะ

                  4.5   แก้ปัญหาฉุกเฉินทางการเงินให้ลูกจ้างในระบบประกันสังคม เร่งปรับปรุงกฎหมายและกลไกการกำกับดูแลที่เหมาะสม เพื่อให้ลูกจ้างในระบบประกันสังคมสามารถนำเงินสมทบของตนเองมาใช้ในยามฉุกเฉินได้ไม่เกินร้อยละ 30 ของจำนวนเงินสมทบของลูกจ้าง และสร้างความร่วมมือระหว่างกองทุนประกันสังคมและธนาคารของรัฐในการจัดระบบการกู้ยืมเพื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้ประกันตน

                   4.6   แก้ปัญหาฉุกเฉินทางการเงินให้ข้าราชการ เร่งปรับปรุงกฎหมาย และกลไกในลักษณะเดียวกันกับ ข้อ 4.5 เพื่อให้ข้าราชการสามารถกูยืมเงินดอกเบี้ยต่ำ หรือ นำเงินสมทบของตนเองมาใช้ในยามฉุกเฉิน ได้ไม่เกิน ร้อยละ 30 เช่นกัน