6 ยุทธศาสตร์ เร่งทำใน 1 ปี!
- สร้างความสามารถในการแข่งขัน
ประเทศไทยได้ก้าวผ่านวิกฤตการระบาดของไวรัสโควิด 19 และสถานการณ์เศรษฐกิจมีแนวโน้มการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่เกิดขึ้นในช่วงการระบาดของไวรัสโควิด 19 ยังคงเป็นบาดแผลในระบบเศรษฐกิจ (Economic Scar) ที่จำเป็นต้องแก้ไขอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับแนวโน้มเศรษฐกิจโลกในปี 2566 – 2567 ยังคงมีความผันผวนสูง ทั้งจากปัญหาเงินเฟ้อในภูมิภาคต่างๆของโลกที่ยังอยู่ในระดับสูง ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์โดยมีเป้าหมายที่จะเพิ่มรายได้ให้กับประเทศไทย ประมาณ 4 ล้านล้านบาท ใน 2-3 ปี จากนี้ จึงจำเป็นต้องมีนโยบายเร่งด่วน ซึ่งส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัว ทำให้ประเทศไทยจำเป็นต้องเร่งแก้ปัญหาและฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจไทยให้เดินหน้าได้อย่างมั่นคง สร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจภายในประเทศ และดึงดูดการลงทุนของอุตสาหกรรมใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงมาตั้งฐานการผลิตในประเทศไทยโดยใช้โอกาสที่บริษัทข้ามชาติอยู่ระหว่างการพิจารณาเคลื่อนย้ายฐานการผลิตจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ โดยมีนโยบายเร่งด่วนเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ ดังนี้
2.1 แก้ปัญหาหนี้หลังการระบาดของไวรัสโควิด 19 ระยะเวลา 12 เดือน โดยเร่งรัดธนาคารของรัฐ และธนาคารพาณิชย์ดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้รายบุคคลและรายธุรกิจ ประสานกับธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อใช้กลไกคลินิกแก้หนี้กระจายไปยังพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศ เพื่อให้ผู้ที่เป็นหนี้เข้าถึงการแก้ปัญหาหนี้อย่างเป็นระบบ และขอความร่วมมือจากธนาคารพาณิชย์และธนาคารของรัฐในการไม่ยึดทรัพย์สินหรือเครื่องมือทำอาชีพจากผู้เป็นหนี้เป็นเวลา 4 ปี แก้ไขและปรับปรุงกฎหมาย ให้มีการกำกับดูแล สินเชื่อเช่าซื้อ สินเชื่อสหกรณ์ ออมทรัพย์ ข้าราชการ สินเชื่ออื่นๆ ที่ขาดการกำกับดูแลที่ดี ให้ ลูกหนี้ ได้รับความเป็นธรรม จ่ายดอกเบี้ย เงินต้น ในอัตราที่เหมาะสม ร;มทั้ง การจัดการกับหนี้ระบบ และการบังคับใช้กฎหมาย พ.ร.บ. ทวงหนี้อย่างจริงจัง
2.2 เพิ่มโอกาสเข้าถึงแหล่งทุนและแก้หนี้นอกระบบ โดยนำเทคโนโลยี Big Data มาประกอบการให้สินเชื่อนอกเหนือจากการใช้หลักประกันในรูปแบบเดิม เพื่อเพิ่มโอกาสให้แก่ประชาชนและ SMEs ในการเข้าถึงแหล่งทุนในการประกอบธุรกิจ รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดธนาคารไร้สาขา หรือ Virtual Bank เพื่อให้การทำธุรกรรมทางการเงินสามารถดำเนินการผ่านระบบดิจิทัลได้สะดวกมากขึ้น ตลอดจนใช้กลไกทางกฎหมายและกลไกทางการเงินในการจัดการเจ้าหนี้นอกระบบ และเร่งรัดการนำลูกหนี้นอกระบบให้เข้าสู่ระบบ นอกจากนั้น ยังจะนำเอามาตรการในการแก้ปัญหาหนี้ต่างๆ ในหลายวิธี เช่น การจัดตั้งกองทุนฉุกเฉินประชาชน การใช้หนี้ด้วยการทำงานให้รัฐหรือหน่วยงานของรัฐ และการแก้ไขกฎหมายเครดิตบูโร (พ.ร.บ. การประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิต พ.ศ. 2545) เป็นต้น รวมทั้งสร้างแหล่งเงินทุนใหม่ๆเพื่อส่งเสริมการออมและสร้างโอกาสของประชาชนในรูปแบบของกองทุนรวม และกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) เป็นต้น
2.3 ลดค่าใช้จ่ายและกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ จัดทำมาตรการช่วยเหลือค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้าให้แก่ครัวเรือนที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน ในอัตราเดิม สำหรับเกษตรกรและผู้มีรายได้น้อยจะได้รับความช่วยเหลือในอัตราค่าใช้ไฟฟ้าในระดับต่ำ และช่วยเหลือค่าใช้จ่ายสำหรับประชาชนในช่วงที่เศรษฐกิจภายในประเทศได้รับผลกระทบจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลก เช่น โครงการคนละครึ่ง การช่วยเหลือ ดูแล ราคาขายปลีก น้ำมันดีเซล ในประเทศ ไม่ให้สูงกว่าปัจจุบัน โดยใช้การบริหารด้านภาษีสรรพสามิต และ กองทุนน้ำมัน ยกเว้น ในกรณีที่ต้องรักษาวินัยทางการเงินของกองทุนน้ำมัน
2.4 ส่งเสริมและสร้างโอกาสของ SMEs ทั่วประเทศ โดยเพิ่มแต้มต่อให้กับ SMEs ในการให้คะแนนจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ และขยายกองทุนส่งเสริม SMEs เพื่อให้ SMEs สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนสำหรับ SMEs และ เร่งรัดจัดตั้งกลไกกองทุนรวมร่วมกับภาครัฐสนับสนุนสภาพคล่อง SMEs รวมทั้งส่งเสริมให้ภาคธุรกิจขนาดใหญ่สร้างเครือข่ายพันธมิตรทางธุรกิจกับ SMEs เพื่อสร้างโอกาสในการสร้างรายได้ของ SMEs รวมทั้งจัดระบบอำนวยความสะดวกในรูปแบบ One-Stop-Service ในการขอใบอนุญาตต่างๆ เป็นการเฉพาะสำหรับ SMEs
2.5 ส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ จัดตั้งกลไกการลงทุนส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในรูปแบบ Venture Capital ที่ประกอบด้วยภาคธุรกิจเอกชนขนาดใหญ่ และหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่มีศักยภาพของรัฐ เพื่อเป็นเครื่องมือสำหรับการลงทุนเพิ่มมูลค่าในธุรกิจเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่มีศักยภาพ และเผยแพร่ไปในต่างประเทศเพื่อสร้างรายได้สินค้าทางวัฒนธรรม รวมทั้งส่งเสริมให้มีสถาบันการศึกษาด้านศิลปะที่นำไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มในรูปแบบ Soft Power เพื่อพัฒนาธุรกิจ Soft Power อย่างเป็นระบบ ตลอดจนส่งเสริมมวยไทย ศิลปินไทยให้ก้าวสู่เวทีโลก
2.6 รักษาฐานการเป็นผู้นำของภูมิภาคของอุตสาหกรรมเดิมของประเทศไทย เช่น ท่องเที่ยว สุขภาพ ปิโตรเคมี อาหาร ผลิตภัณฑ์เกษตร สร้างประเทศไทยให้เป็นฐานอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า และอุตสาหกรรมดิจิทัลในภูมิภาค และกำหนดมาตรการเพื่อจูงใจเพิ่มเติมจากที่มีอยู่ในปัจจุบันเพื่อให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า และอุตสาหกรรมดิจิทัลอย่างครบวงจร อาทิ การลงทุนในอุตสาหกรรมแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า การลงทุนในอุตสาหกรรมอิเล็คทรอนิคส์ และซอฟแวร์สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า และการลงทุนในอุตสาหกรรมสถานีอัดประจุไฟฟ้า (Charging Station) โดยเพิ่มเติมมาตรการส่งเสริมการลงทุนที่ดำเนินการอยู่ และใช้กองทุนเพิ่มความสามารถในการแข่งขันที่มีอยู่เป็นกลไกหลักในการสร้างแรงจูงใจให้บริษัทชั้นนำในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องมาลงทุนในประเทศไทย รวมทั้งการพัฒนากำลังคน และพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs ในอุตสาหกรรมยานยนต์เดิมให้สามารถปรับตัวเพื่อเข้ามาเป็น Supply Chain ในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อให้ได้รับประโยชน์จากการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้ามากที่สุด สำหรับอุตสาหกรรมดิจิทัลนั้น จะกำหนดมาตรการที่เหมาะสมและสอดรับกับความต้องการของผู้ลงทุน โดยมุ่งเน้นให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรม Data Center และ Cloud Service และการสนับสนุนอุตสาหกรรมในการกำจัด Battery และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องในยานยนต์ไฟฟ้า อย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
2.7 พัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจใหม่เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน พัฒนาต่อยอดระเบียงเศรษฐกิจ 4 ภาค เพื่อสร้างฐานเศรษฐกิจ BCG รองรับการเจริญเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เน้นการผลิต การใช้พลังงานสะอาด เป็นกลไกหลักในการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนไปยังพื้นที่ระบียงเศรษฐกิจทั้ง 4 ภาค เพื่อฐานเศรษฐกิจในภูมิภาคในการสร้างงาน สร้างรายได้ตั้งแต่ระดับชุมชนจนถึงธุรกิจในพื้นที่
2.8 พลังงานสะอาดเพื่ออนาคต สำหรับครัวเรือน และชุมชน ส่งเสริมการติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านสำหรับผลิตไฟฟ้าใช้เองเพื่อลดค่าใช้จ่าย และขายเข้าระบบเพื่อสร้างรายได้เสริมให้แก่ครัวเรือน รวมทั้งส่งเสริมโรงไฟฟ้าชีวมวลในชุมชน เพื่อสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน และอุตสาหกรรมในการกำจัดโซลาร์เซลล์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
2.9 ขยายผลการส่งเสริมการเลี้ยงโคในครัวเรือนเกษตรกร ส่งเสริมการเลี้ยงโคในครัวเรือนและชุมชนเกษตรกร ผ่านกลไกกองทุนหมู่บ้านที่มีคุณภาพดีทั่วประเทศที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน โดยตั้งเป้าหมายให้มีครัวเรือนเข้าร่วมอย่างน้อย 1 ล้านครัวเรือน เพื่อสร้างรายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้นจากการเลี้ยงโค
2.10 ลดต้นทุนของเกษตรกร และสร้างการเข้าถึงเทคโนโลยี Smart Farming สนับสนุนเงินอุดหนุนให้แก่ครัวเรือนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวเพื่อลดลดต้นทุนผลผลิต จำนวน 2,000 บาทต่อไร่ ครัวเรือนละไม่เกิน 5 ไร่ และปรับงบประมาณประจำปีของหน่วยงานเพื่อให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงเทคโนโลยี Smart Farming รวมทั้งมีมาตรการให้ความช่วยเหลือและสนันสนุนตามโครงการ “เกษตรร่ำรวย”
2.11 ส่งเสริมการท่องเที่ยวไทย โดยจัดทำการส่งเสริมการท่องเที่ยวสำหรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่มีความหลากหลาย อาทิ การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เพื่อดึงดูดกลุ่มนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ รวมทั้งส่งเสริมการท่องเที่ยวสำหรับกลุ่มนักท่องเที่ยวจากภูมิภาคตะวันออกกลาง เร่งปรับระบบการอำนวยความสะดวกและสร้างความปลอดภัยให้แก่นักท่องเที่ยว ส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ โดยจัดทำโครงการเราเที่ยวด้วยกันในพื้นที่เมืองรอง
2.12 ส่งเสริมการค้าการลงทุน กับโอกาสของภาคธุรกิจ เร่งการต่อยอดทางการค้ากับประเทศซาอุดีอาระเบีย และกลุ่มตะวันออกกลาง และเปิดการเจรจาเพื่อให้มีข้อตกลงทางการค้ากับเขตเศรษฐกิจต่างๆ เพื่อขยายตลาดทางการค้าของประเทศไทย บนพื้นฐานที่เหมาะสมและเท่าเทียมกัน
2.13 พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เชื่อมโยงเส้นทางคมนาคม เร่งรัดการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานรวมทั้งเครือข่ายคมนาคมต่างๆ ให้เป็นไปตามเป้าหมาย เพื่อให้ประเทศไทยได้เชื่อมต่อการค้าและเป็นประตูสู่การค้าของภูมิภาคนี้